แผ่นดินไหวเขย่ายอดการใช้งาน! ปรากฏการณ์ Voice & Data พุ่งเป็นประวัติการณ์ มุมมองใหม่ของการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน

01 เมษายน 2568, 15:06น.


      เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.25 น. ประเทศไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งสามารถรู้สึกได้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที พฤติกรรมการสื่อสารของผู้ใช้งานบนเครือข่ายทรูและดีแทคเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยปริมาณการโทรออก (Voice Call) พุ่งสูงเฉลี่ยกว่า 5 เท่า ขณะเดียวกัน การใช้งานดาต้า (Data) ก็เปลี่ยนทิศทางอย่างเห็นได้ชัด

      การโทรกลายเป็นช่องทางเร่งด่วนในการติดต่อระหว่างบุคคล ส่วนดาต้าถูกใช้เพื่อการสื่อสารอย่างมีเป้าหมาย ผ่านแอปอย่าง LINE Messenger และ X เพื่อติดต่อ ตอบกลับข้อความ และเช็กข้อมูลข่าวสาร สะท้อนพฤติกรรมของผู้ใช้งานในภาวะฉุกเฉินที่ต้องการติดต่อสื่อสารอย่างทันท่วงที

พฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายในช่วงฉุกเฉิน

      จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลการใช้งานบนเครือข่ายทรูและดีแทคสะท้อนภาพชัดเจนถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานในช่วงเวลาฉุกเฉิน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

การใช้งานเสียง (Voice Usage)

      - ช่วงเวลา 13:30 – 13:45 น. เป็นช่วงที่ปริมาณการโทรบนเครือข่ายทรูและดีแทคเพิ่มขึ้นสูงที่สุด

            เครือข่ายทรู

            - ปริมาณการโทรออกเพิ่มขึ้นสูงสุด 465% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของวันที่ 27 มีนาคม 2568 (จาก 1.57 ล้านครั้ง เป็น 8.89 ล้านครั้ง)

            - จุดที่การโทรออกพุ่งขึ้นสูงสุดอยู่ที่เวลา 13:33 น. โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 299,000 ครั้ง หรือคิดเป็น 672% จากค่าปกติในช่วงเวลาดังกล่าว

            เครือข่ายดีแทค

            - ปริมาณการโทรออกเพิ่มขึ้นสูงสุด 545% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของวันที่ 27 มีนาคม 2568 (จาก 2.67 ล้านครั้ง เป็น 17.23 ล้านครั้ง)

            - จุดที่การโทรออกสูงที่สุดคือเวลา 13:32 น. เพิ่มขึ้น 300,000 ครั้ง หรือคิดเป็น 1,061% จากค่าปกติ

      - การโทรภายในเครือข่ายเดียวกัน เพิ่มขึ้น 65% ขณะที่การโทรข้ามเครือข่าย เพิ่มขึ้น 121%

      - ปริมาณการโทรออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในชั่วโมงแรก แม้จะลดลงในช่วงเวลาต่อมา แต่ยังคงสูงกว่าปกติจนถึงเวลาเที่ยงคืน

ปริมาณการโทรออกเทียบเป็นรายภาค ในช่วงการโทรสูงสุด

เครือข่ายทรู จุดที่มีการโทรออกสูงที่สุดคือเวลา 13:33 น. โดยเรียงลำดับจากภาคที่มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุด ดังนี้

      - กรุงเทพมหานคร +1,171%

      - ภาคตะวันตก +618%

      - ภาคใต้ +455%

      - ภาคตะวันออก +426%

      - ภาคกลาง +285%

      - ภาคเหนือ  +112%

      - ภาคอีสานตอนบน +82%

เครือข่ายดีแทค  จุดที่มีการโทรออกสูงที่สุดคือเวลา 13:32 น. โดยเรียงลำดับจากภาคที่มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุด ดังนี้

      - กรุงเทพมหานคร  +1,983%

      - ภาคตะวันตก +1,054%

      - ภาคกลาง  +822%

      - ภาคเหนือ +541%

      - ภาคตะวันออก  +269%

      - ภาคใต้ +229%

      - ภาคอีสานตอนบน  +103%

      จากข้อมูลข้างต้น อาจสรุปได้ว่าในภาวะฉุกเฉิน ผู้ใช้งานมีแนวโน้มเลือกใช้ “การโทร” (Voice Call) เป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร โดยปริมาณการโทรออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงบทบาทของการสื่อสารด้วยเสียงในภาวะฉุกเฉิน เพื่อยืนยันความปลอดภัยระหว่างบุคคลอย่างทันท่วงที

การใช้งานดาต้า (Data Usage)

      - พบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานดาต้าอย่างชัดเจนในช่วงเวลา 13:15 – 14:15 น. โดยช่วงเวลา 13:15–13:30 น. ปริมาณการใช้ดาต้าบนทั้งสองเครือข่ายลดลง สะท้อนการหยุดชะงักชั่วขณะจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

      - จากนั้นตั้งแต่ 14:00 – 19:00 น. การใช้งานดาต้ากลับมาสูงขึ้น มากกว่าค่าปกติ อย่างต่อเนื่อง

            - ปริมาณการใช้งานดาต้าของทรู เพิ่มขึ้นประมาณ 917 เทราไบต์ (9%)

            - ปริมาณการใช้งานดาต้าของดีแทค เพิ่มขึ้นประมาณ 653 เทราไบต์ (13%)

พฤติกรรมการใช้งาน 7 แอปพลิเคชันยอดนิยมในช่วงเหตุการณ์แผ่นดินไหว

      เมื่อพิจารณาการใช้งานของ 7 แอปยอดนิยม (Facebook, Messenger, Instagram, TikTok, YouTube, LINE, X) ในช่วงเวลา 13:15–14:15 น. พบว่าทั้ง ทรู และ ดีแทค มีแนวโน้มคล้ายกัน คือ:

      - แอปสื่อสาร เช่น Twitter, LINE, Messenger มีการใช้งานเพิ่มขึ้นมากที่สุด

      - แอปวิดีโอ เช่น YouTube และ TikTok มีการใช้งานลดลงหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย

สะท้อนว่าในภาวะฉุกเฉิน ผู้ใช้งานมุ่งไปที่การสื่อสารแบบทันที และการตรวจสอบสถานการณ์

เครือข่าย True

      - ใช้ดาต้าเพิ่มขึ้น 469,118 MB (+16%) จุดพีคของการใช้แอปคือเวลา 16:33 น.

            - X +199%

            - LINE +74%

            - Messenger +41%

            - Facebook +35%

            - YouTube -7.8%

            - TikTok -0.9%

เครือข่ายดีแทค

      - ใช้ดาต้าเพิ่มขึ้น 290,063 MB (+17%) จุดพีคของการใช้แอปเกิดขึ้นที่ 13:25 น. ทันทีหลังรับรู้เหตุการณ์

            - Twitter (X) +162%

            - LINE +90%

            - Messenger +77%

            - Facebook +33%

            - YouTube -6%

            - TikTok +0.6%

      จากข้อมูลข้างต้น อาจสรุปได้ว่าในภาวะฉุกเฉิน ผู้ใช้งานมีแนวโน้มปรับพฤติกรรมไปใช้แอปที่เน้นการสื่อสาร มากกว่าการเปิดดูคอนเทนต์วิดีโอ เป็นการใช้ดาต้าโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยืนยันความปลอดภัย รับรู้ข่าวสาร และติดต่อผู้คนในช่วงเวลาสำคัญ

เบื้องหลังคือการยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

      หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทีมงานเน็ตเวิร์กของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทันที ด้วยการตั้ง "วอร์รูม” ที่ BNIC ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ โดยใช้ AI ดูแลและบริหารเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการระดมกำลังทีมงาน เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประชาชนผู้ใช้งานเครือข่ายทุกคนจะใช้การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด





 

X