สมศักดิ์ เปิด ‘โครงการรับส่งปลอดภัยได้ (ใจ) ผู้ใช้บริการ’ จัดรถรับ-ส่งกลุ่มเปราะบางใน กทม. ไปหาหมอ

03 เมษายน 2568, 19:57น.


      “สมศักดิ์” เปิด “โครงการรับส่งปลอดภัยได้ (ใจ) ผู้ใช้บริการ”  สปสช. ผนึกพลัง มูลนิธิเส้นด้าย จัดบริการรถรับ - ส่งผู้ทุพพลภาพ ดูแลประชากร 3 กลุ่มเปราะบางทุกสิทธิ ใน กทม. ไปหาหมอโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาล เผย 3 เดือน ให้บริการรับ – ส่งกลุ่มเป้าหมายแล้ว 1,197 เที่ยว



      เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวเปิด “โครงการรับส่งปลอดภัยได้ (ใจ) ผู้ใช้บริการ” ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้โครงการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพทุกสิทธิรักษาพยาบาลเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายคริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย และมูลนิธิเส้นด้าย ดร.อังสนา เนียมวานิชชกุล กรรมการบริหารมูลนิธิเส้นด้าย ซึ่งเข้าร่วมโครงการและให้บริการรับ - ส่งผู้ทุพพลภาพ แลเครือข่ายจิตอาสา ทั้งประชาชนทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกู้ภัยที่เข้าร่วมกับมูลนิธิเส้นด้าย เพื่อให้บริการรถรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพ เข้าร่วม



      นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้ารับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อย่างไรก็ดีพบว่ายังมีประชาชนบางกลุ่มที่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากอุปสรรคด้านการเดินทางและค่าพาหนะ ดังนั้น บอร์ด สปสช. จึงเห็นชอบให้บรรจุสิทธิประโยชน์บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ผู้สูงอายุ 2. คนพิการ และ 3. ผู้ป่วยที่เดินทางไปโรงพยาบาลยากลำบากสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

      ทั้งนี้ สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับไว้แล้ว และต้องการให้ผู้ป่วยซึงเป็นผู้ทุพพลภาพในกรุงเทพฯ ให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น เพื่อความสะดวก โดยสามารถประสานมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่และกำหนดวันนัดหมายเพื่อให้เครือข่ายจิตอาสาเข้าไปรับ - ส่งไปยังหน่วยบริการ โดยขอให้แจ้งนัดหมายรถรับ - ส่ง อย่างน้อย 7 วันก่อนถึงวันนัดพบแพทย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้จัดสรรคิวการเข้ารับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ



      “ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมบริการสุขภาพตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล โดยความร่วมมือกับมูลนิธิเส้นด้าย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” รมว.สาธารณสุข กล่าว



      นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โครงการฯ นี้ ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิรักษาพยาบาลที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ กำหนดเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยจำนวน 15,440 คน รวมจำนวน 45,045 เที่ยว โดย สปสช. กำหนดอัตราชดเชยค่าบริการเที่ยวละ 350 บาท จำนวน 3 ครั้งต่อเดือน ซึ่ง มูลนิธิเส้นด้ายได้ร่วมจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา

      ทั้งนี้ ภายหลังให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ มาถึงปัจจุบัน พบว่ามีประชาชนรับบริการรถรับ – ส่งจากโครงการฯ นี้แล้วจำนวน 809 คน รวมบริการ 1,197 เที่ยว อย่างไรก็ดีตามที่ประชาชนต้องการให้เพิ่มเที่ยวบริการให้มากขึ้นจากเดิม 3 เที่ยวนั้น สปสช. ขอดูผลงานการให้บริการที่เกิดขึ้นจริง และหากว่ามีความจำเป็นก็จะพิจารณาปรับเพิ่มเที่ยวบริการให้ เพราะต้องยอมรับว่า กลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ และสปสช. จะดำนินการต่อเนื่องในปีถัดไปด้วย



      “ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 24 มี.ค. 68 มีประชาชนรับบริการรถรับส่งในโครงการฯ นี้แล้ว โดยแจ้งผ่านสายด่วน 1330 จำนวน 809 คน หรือรับบริการขาไปและขากลับจำนวน 1,197  เที่ยว ซึ่งยังไม่เยอะ และสปสช. ต้องการให้มีการเข้าถึงบริการจากโครงการนี้ให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังอยากให้มูลนิธิหรือเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นจิตอาสา ที่สนใจ และอยากเข้าร่วมโครงการฯ นี้กับ สปสช. มีมากขึ้น เพื่อเข้ามารองรับการบริการ สามมารถประสานที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ โดย สปสช. พร้อมสนับสนุนต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน



      ด้าน นายคริส โปตระนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย และมูลนิธิเส้นด้าย กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่ายจิตอาสาของมูลนิธิเส้นด้ายที่มีรถเข้าร่วมบส่งปลอดภัยได้(ใจ)ผู้ใช้บริการมีจำนวนที่เพียงพอต่อการให้บริกร และอยากให้ผู้ป่วย ผู้ทุพพลลภาพ ที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทในกรุงเทพฯ ได้ประสานมาเพื่อใช้บริการกรณีที่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดหมายที่โรงพยาบาล โดยขอให้ประสานมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อนัดหมาย หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 096 5000 ของมูลนิธิเส้นด้าย ที่จะมีเจ้าหน้าที่รอรับสายและจัดคิวรถเพื่อไปให้บริการ ซึ่งสามารถประสานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

      "หลังให้บริการไปแล้วกว่า 3 เดือน พบว่าประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่เป็นผู้ทุพพลภาพที่ได้ใช้บริการชื่นชอบอย่างมาก เพราะสามารถเข้าถึงบริการ และแก้ปัญหาที่ผู้ป่วย และผู้ทุพพลภาพได้เจอเมื่อต้องเข้าไปรับบริการทางการแพทย์ ที่ค่อนข้างยากลำบาก ซึ่งโครงการนี้จะช่วยทำให้ไม่มีใครต้องตกหล่นและนอนทนเจ็บป่วยที่บ้านเพราะไม่มีเงินเดินทางไปรักษาอีกต่อไป” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย และมูลนิธิเส้นด้าย กล่าวในตอนท้าย







 
X