ทำไมต้องเปิด-ปิด สะพานกรุงเทพ ให้เรือผ่าน ?

26 เมษายน 2559, 15:47น.


แม้ไม่บ่อยครั้งนักที่ในช่วงเช้า เราต้องจอดรถติดรอบน ถ.พระราม3 ดูสะพานกรุงเทพเปิดยกขึ้นเพื่อให้เรือแล่นผ่าน จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า.. เรืออะไรที่แล่นผ่านไป? แล่นไปที่ไหน? และต้องบ่อยแค่ไหน?


นายณรงค์ คู่บารมี ผู้อำนวยการกลุ่มบำรุงสะพานและถนน สำนักบำรุงทาง กรมทางหลวงชนบท เปิดเผยกับ จส.100 ว่าปัจจุบันใน กทม. มีสะพานกรุงเทพแห่งเดียวที่ยังต้องคอยเปิดปิดให้เรือผ่าน ปัจจุบันมีอายุ 57 ปี ระยะทางยาว 350 เมตร มีช่องทางจำนวน 4 ช่องจราจร ทางเท้ากว้างฝั่งละ 2.50 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 7.50 เมตร ถูกออกแบบให้สามารถเปิดปิดได้ตั้งแต่ต้น และได้รับการดูแลรักษาตามรอบการซ่อมบำรุงโดยกรมทางหลวงชนบทอย่างดี



การเปิดสะพานให้เรือผ่านแต่ละครั้ง จะมีหัวหน้าหมวดบำรุงทางและวิศวกรคอยดูแลภายในห้องควบคุมบนสะพาน โดยกลไกการยกสะพานประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

1. ระบบไฟฟ้า เป็นกลไกหลัก ใช้เวลาในการยกสะพานขึ้นลงจริงไม่เกิน 10 นาที แต่ต้องมีการเตรียมการก่อน จึงเผื่อเวลาไว้ 20 นาที ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเรือด้วย

2. ระบบเครื่องยนต์ เป็นกลไกสำรอง ใช้เวลาในการยกสะพาน 30 นาที

3. ระบบมือ เป็นกลไกสำรองใช้สุดท้าย ใช้มือหมุนเกียร์และทดเฟืองกลไกการยกสะพาน ใช้เวลาในการยกสะพาน 60 นาที



ในแต่ละเดือนมีการเปิดให้เรือแล่นผ่านเฉลี่ย 2-3 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นเรือหลวงขนาดใหญ่ และเรือเอกชนขนาดใหญ่ เข้าไปซ่อมบำรุงที่ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกองทัพเรือ ซึ่งจะแจ้งล่วงหน้ามายังกรมทางหลวงชนบทเพื่อให้เปิดสะพาน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบด้านการจราจรทางท้องถนน เช่น ตำรวจ สน.บุคคโล และ จส.100 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ซึ่งตามระเบียบกำหนดช่วงเวลาเปิดปิดไว้เฉพาะวันอังคาร เวลา 9 นาฬิกา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเคยชิน



อย่างไรก็ตาม สมัยก่อนยังมีสะพานพุทธอีกแห่งที่สามารถทำได้ แต่ด้วยเหตุผลด้านความแข็งแรงของสะพานที่มีอายุ 84 ปี จึงทำการเชื่อมถาวรไปแล้วในการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่เมื่อหลาย 10 ปีก่อน



by DJ อภิสุข เวทยวิศิษฎ์


ขอบคุณภาพจาก : กรมทางหลวงชนบท


เครดิตข่าว จส.100 : 


กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ 


กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ : 


ดาวน์โหลด JS100แอพพลิเคชั่น ได้ที่ :     



 




 

X