“แยกพีกาซัส โคราช” จุดที่มีการจราจรหนาแน่น เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยกว่า 10ครั้งต่อเดือน!

24 สิงหาคม 2559, 18:55น.


            ภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเสี่ยงแยกพีกาซัส (จุดตัดระหว่างถนนมิตรภาพ – ถนนช้างเผือก) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา หลังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง







          โดยถนนมิตรภาพบริเวณนี้เป็นถนนฝั่งละ 6 ช่องจราจร (รวม 2ฝั่ง 12ช่องจราจร) ส่วนถนนช้างเผือกเป็นถนน 2ช่องทาง สวนทางกัน รวมทั้งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางของรถโดยสาร และรถยนต์ส่วนบุคคล ไปสู่ภาคอีสาน และเข้าสู่กรุงเทพมหานคร มีสภาพโดยรอบประกอบด้วยชุมชน โรงแรม โรงเรียน ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิง ปริมาณรถที่สัญจรผ่านแยกดังกล่าวจึงมีจำนวนหลายพันคันต่อวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน (7.00น. – 9.00น. และ 15.00น.-18.00น.) โดยทีมกู้ภัย มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน เผยว่า บริเวณแยกพีกาซัส จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกว่า 10ครั้งต่อเดือน! ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต







            จากการลงสำรวจจุดเสี่ยงโดยภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน พร้อมทีมข่าวในช่วงกลางวัน และกลางคืน พบว่าในช่วงกลางวันจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำป้อมตำรวจแยกพีกาซัส อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ตั้งแต่เวลา 05.00 – 18.30น. เมื่อประชาชนเห็นตำรวจจะไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ทำให้ไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุ แต่เมื่อไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะแอบฝ่าฝืนกฎหมายจราจร เช่น ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถด้วยความเร็ว ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง!









            การตั้งข้อสันนิษฐานโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร วิเคราะห์ด้านถนน

1.   ถนนมีความกว้างถึง 12 ช่องทาง ทำให้รถใช้ความเร็วได้สูง

2.   ถนนสายหลัก(ถนนมิตรภาพ) สูงกว่าถนนสายรอง(ถนนช้างเผือก) ทำให้ผู้ขับขี่ต้องใช้ความเร็วเพื่อให้พ้นแยก

3.   มีซอยย่อยจำนวนมาก ทำให้ส่งผลต่อการจราจร

4.   เกาะกลางถนนที่มีความยาวเกินไป ทำให้รถเบียดเกาะกลางถนนขณะเลี้ยวรถ







5.   พื้นผิวถนนไม่เรียบ มีหลุมเป็นระยะ

6.   เส้นจราจรบนพื้นถนนไม่ชัดเจน

7.   ป้ายจราจรที่ให้กลับรถได้ พร้อมกับรถอีกฝั่งที่ให้เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด (ทำให้รถจาก 2ฝั่งมาเจอกัน)





            ปัจจัยด้านบุคคล ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ

1.   ขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร

2.   ไม่สวมหมวกนิรภัย

3.   จอดรถล้ำเส้น ขณะติดไฟแดง

4.   ขับรถปาดหน้า

5.   ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

6.   รถจักรยานยนต์ โดยสารเกินจำนวน

7.   ขับรถด้วยความเร็ว

8.   ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

9.   กลับรถโดยไม่รอสัญญาณไฟจราจร

10. คนเดินข้ามถนนด้วยความประมาท









          ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ

1.   ต้นไม้ สายไฟ ป้ายโฆษณา บังป้ายจราจร

2.   มีเศษหิน หรือดิน บนถนน ทำให้รถจักรยานยนต์สะบัด







          จึงเป็นคำถามว่าต้องแก้ไขในด้านใดบ้าง? เพื่อจะช่วยลดอุบัติเหตุ และความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ทั้งการสร้างอุโมงค์ลอดทางแยก หวังลดจุดตัดช่วงแยกพีกาซัส จะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้หรือไม่? หรือแม้การบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง เพื่อให้ประชาชนเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิด แต่สิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือเริ่มจากการ “ รักตัวเอง ห่วงความปลอดภัย ” ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เตือนตัวเอง คนรอบข้าง และคนที่คุณรัก ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป....







ขอขอบคุณข้อมูลโดย

1. ดร.ศาสตราวุฒิ  พลบูรณ์   นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรีนารี

2. เจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน

3. นิสิตปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

4. สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา

ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ 



สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถานีวิทยุ จส.100 ได้ทาง

        

สามารถดาวน์โหลด JS100 Application ได้ทั้งระบบ IOS และ Andriod ฟรี!!

  

X