ภาคีเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยง “เขาพับผ้า” บนทางหลวงหมายเลข 4 กม.1128 – กม.1138 ช่วงอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง หลังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง “โดยเฉพาะช่วงฝนตก!” จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก
โดยมีการเก็บสถิติตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2557 – กันยายน 2559 เกิดอุบัติเหตุรวมกว่า 70ครั้ง โดยรถที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นรถกระบะ 58คัน รถเก๋ง 19คัน รถตู้ 2คัน และรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ 1คัน รวมมูลค่าความเสียหาย 3,798,000 บาท ซึ่งอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์นั้นตกไปในเหวข้างทาง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 1คน!
นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงตรัง เผยถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุว่า ด้วยข้อจำกัดทางด้านวิศวกรรมจราจร ทำให้ต้องกำหนดความเร็วที่ 50 กม./ชม. ถนนที่เป็นทางโค้งซ้าย โค้งขวาสลับไปมากับทางขึ้น-ลงภูเขา และถนนที่กว้าง ทำให้ผู้ขับขี่คิดว่าสามารถใช้ความเร็วได้ แต่แท้จริงแล้วทำไว้เพื่อให้รถบรรทุก ที่วิ่งช้าวิ่งชิดซ้าย ระดับความชันของเขาอยู่ที่ 8% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในมาตรฐานของถนนตามภูเขา จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นขณะมีฝนตกในระดับ 1-2 เพราะเมื่อฝนตก ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกว่า 50 กม./ชม. ตามที่ป้ายเตือนระบุไว้ตลอดข้างทาง ทำให้รถลื่น และเกิดอุบัติเหตุในที่สุด
โดยเฉพาะช่วง กม.1129+800 ที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดดังกล่าวเป็นทางโค้งขึ้นเขา ที่มีการทาพื้นสีแดงเพื่อเป็นการเตือนผู้ขับขี่ให้ลดความเร็ว และเพิ่มความฝืดของผิวถนน แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุอยู่! รวมทั้งวันที่ทีมข่าวได้ลงสำรวจพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ขณะนั้นมีฝนตก ไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับแจ้ง ว่ามีอุบัติเหตุรถกระบะ ชนขอบกั้นกลางถนน กีดขวางช่องทางกลาง มีน้ำมันเกียร์รั่วไหลลงถนน ทีมข่าวจึงรีบไปจุดดังกล่าวทันที ซึ่งไม่ไกลจากจุดที่กำลังลงสำรวจพื้นที่อยู่ จากการสอบถามผู้ขับขี่ เผยว่าเพิ่งขับรถออกมาจากบ้านที่ จ.ตรัง กำลังจะมุ่งหน้าไป จ.พัทลุง โดยใช้เส้นทาง ทล.4 ในขณะนั้นมีฝนตก ตนขับมาด้วยความเร็วประมาณ 60-70 กม./ชม. เมื่อถึงจุดเกิดเหตุถนนลื่น ไม่ทันได้เบรก รถก็ชนเข้าที่ขอบกั้นกลางถนน ทำให้ด้านหน้ารถเสียหาย และมีน้ำมันเกียร์รั่วไหล ไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต โดยกรมทางหลวง และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานรถยก และรถทรายเพื่อโรยทรายป้องกันรถคันอื่นลื่นไถล หรือเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
สิ่งที่ได้ดำเนินการแก้ไขเบื้องต้นแล้ว โดยกรมทางหลวง
1. ทาผิวถนนสีแดงเป็นระยะๆ เพื่อกันลื่น
2. ติดป้ายเตือนต่างๆ
3. ล้างถนนเดือนละ 1ครั้ง เพื่อล้างน้ำเมือกปลา และน้ำยาง
4. ตรวจเช็คความฝืดของถนนให้อยู่ในเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ
แนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยกรมทางหลวง
1. เพิ่มอุปกรณ์ เช่น ป้ายเตือนจุดเสี่ยง, ไฟให้แสงสว่าง
2. ปรับปรุงผิวจราจรเพิ่มเติมในปี 2560 เพื่อเพิ่มความฝืดป้องกันถนนลื่นจากปัญหาน้ำยาง
นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงตรัง แนะนำประชาชนเพิ่มเติมว่า ให้ปฏิบัติตามป้ายเตือนอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และผู้ร่วมทาง เพราะแต่ละถนนจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม การเชื่อและปฏิบัติตามป้ายเตือนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลโดย
1. นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงตรัง
2. นายประจวบ กรุณกิจ หัวหน้าหมวดทางหลวงนาโยง จ.ตรัง
3. สถานีตำรวจภูธรนาโยง จ.ตรัง
4. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง
ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์