อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แม้ผู้ใช้รถใช้ถนนจะมีความระมัดระวังมากแค่ไหน แต่อุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะจากตนเองหรือผู้ใช้เส้นทางร่วมกัน ดังนั้นในฐานะที่ผู้ขับรถต้องอยู่บนท้องถนนเป็นประจำ ควรรู้วิธีปฏิบัติหากเกิดอุบัติเหตุ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม และลดปัญหาการจราจรที่อาจจะติดขัดตามมา
1. สติ
เหนือสิ่งอื่นใด สติ ย่อมสำคัญที่สุด บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้ขับรถทำอะไรไม่ถูกหลังเกิดอุบัติเหตุสดๆร้อนๆ เช่น นั่งช็อกอยู่เฉยๆไม่ลงจากรถ โทรศัพท์หาพ่อแม่พี่น้องและเพื่อน หรือโมโหเถียงกับคู่กรณีจนไม่ทันช่วยคนเจ็บ ฯลฯ ดังนั้นควรเริ่มจำการตั้งสติก่อน เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปทำอะไรได้ แต่ควรคิดว่าต้องทำอะไรต่อ อย่ามัวเสียเวลาเถียงกันหาคนผิดถูกเวลานั้น
2. ตรวจสอบการบาดเจ็บก่อนสำรวจรถ
รถเสียหายยังซ่อมได้ แต่อวัยวะเสียหายอาจซ่อมไม่ได้ ดังนั้นต้องสำรวจตนเอง ผู้โดยสาร และคู่กรณีก่อน ว่าร่างกายได้รับบาดเจ็บอะไรหรือไม่ ถ้ามีให้รีบเรียกรถพยาบาล โทร.1669 ทันที หากเป็นแผลฉกรรจ์หรือสงสัยว่าแตกหักผิดรูป ยังไม่ควรขยับหรือเคลื่อนย้าย เพราะอาจให้เกิดความเสียหายในภายหลัง จากนั้นค่อยเดินสำรวจรอบรถอย่างระมัดระวังเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ ถ้าอยู่บนทางด่วนหรือทางพิเศษ ควรโทรศัพท์แจ้งเหตุโดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาอำนวยการที่จุดเกิดเหตุ
(ภาพจาก : theactkk)
3. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์สำหรับแจ้งอุบัติเหตุทางท้องถนน ที่สามารถใช้ได้เบอร์เดียวได้ทุกจุดทั่วประเทศ ยังคงแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เช่น ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร โทร.1197 สำหรับกรุงเทพและปริมณฑล ,ตำรวจทางหลวง โทร. 1193 สำหรับต่างจังหวัด และยังมีรายละเอียดแยกย่อยรายพื้นที่อีก บางคนอาจเลือกใช้เบอร์ 191 ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเบอร์สายด่วนตำรวจสำหรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายทั่วไป แนะนำหากคุณไม่มั่นใจว่าควรใช้เบอร์ไหน สามารถแจ้ง จส.100 โทร. 1137 หรือ *1808(ฟรี) หรือกดปุ่ม SOS ผ่านแอป JS100 สามารถประสานต่อได้ทุกพื้นที่
4. แจ้งประกันภัย
หากเราทำประกันภัยไว้ ให้เตรียมรายละเอียดที่จำเป็นต่อการตอบคำถามก่อน เช่น จุดเกิดเหตุ ช่วงถนน รายละเอียดรถยนต์ และเลขที่กรมธรรม์ ส่วนหมายเลขโทรศัพท์ประกันภัยให้ดูที่ป้ายวงกลมที่ติดกระจกรถหรือในเอกสารกรมธรรม์ และระหว่างที่รอประกันภัยเดินทางมาถึง ให้เตรียมเอกสาร บัตรประชาชน ใบขับขี่ ให้พร้อมไว้เลย
5. การเคลื่อนย้ายก่อน จนท. มาถึง
หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง มีความเสียหายเล็กน้อย จุดที่เกิดอุบัติเหตุกีดขวางกลางถนน ส่งผลให้การจราจรติดขัด ตำรวจให้ข้อแนะนำว่าสามารถเคลื่อนย้ายให้พ้นการกีดขวางก่อนได้ โดยการถ่ายภาพเก็บหลักฐานให้ครบถ้วน 3 ส่วน เหมือนตำรวจ ได้แก่
1) ถ่ายภาพลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ ภาพตำแหน่งของล้อรถในช่องทางที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง และมุมกว้างให้เห็นเหตุการณ์ครอบคลุม
2) ถ่ายภาพความเสียหายที่เกี่ยวข้อง ตำแหน่งบุบ แตก หรือเป็นรอย ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ
3) ถ่ายภาพรายละเอียดของตัวรถ ยี่ห้อ รุ่น และหมายเลขทะเบียน
** ยกเว้นหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต ห้ามเคลื่อนย้ายรถและคนโดยเด็ดขาด จนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึง เนื่องจากอาจมีผลทางคดีอาญา **
(ภาพจาก : มหาบรรจ)
6. เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุ
เจ้าหน้าที่มักจะเก็บหลักฐานจากจุดเกิดเหตุ สอบปากคำคู่กรณี และพยานแวดล้อม และแบ่งการดำเนินการดังนี้
1)หากคู่กรณีตกลงความเสียหายกันได้ ตำรวจจะลงบันทึกประจำวันและให้แยกย้าย
2)หากคู่กรณีตกลงความเสียหายกันไม่ได้ จะเชิญไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ และอาจมีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ
3)กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องไปสอบปากคำต่อที่สถานีตำรวจ และอาจมีการแจ้งข้อหาคดีอาญา
ทั้งนี้บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ คู่กรณีมักจะลงมาเถียงกันเพื่อหาคนผิดด้วยอารมณ์โมโห ต่างฝ่ายต่างเถียงว่าตนเองถูก ทั้งที่จริงแล้ว "ใครผิดใครถูก แม้แต่ตำรวจยังไม่สามารถฟันธงได้" ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาและรวบรวมพยานหลักฐานลงบันทึกประจำวันเท่านั้น ซึ่งหากเป็นการกระทำความผิดที่ชัดเจน และมีการชำระค่าปรับเกิดขึ้น คดีก็จะถึงที่สิ้นสุด แต่ถ้าคดียังไม่ชัดเจน เรายังสามารถรวบรวมพยานหลักฐานไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้อีก
อภิสุข เวทยวิศิษฏ์