คณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบด้วย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมประชาสัมพันธ์ และภาคเอกชนเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกันสกัดการนำเข้า กวาดล้างแหล่งผลิตจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าหลายรายการในปี 2559 ที่ผ่านมา
วันนี้(10มี.ค.60) ที่ลานอเนกประสงค์กองทัพภาคที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เขตบางเขน ได้จัดพิธีทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เฉพาะคดีถึงที่สุดแล้วรวมทั้งสิ้น 2,638 คดี รวบรวมของกลางที่เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ แผ่นซีดี ดีวีดี และอื่นๆ จำนวนทั้งสิ้น 3,639,679 ชิ้น น้ำหนักรวมประมาณ 300 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,756,619,050 บาท
สำหรับของกลางที่รวบรวมมาทำลายจากแต่ละหน่วยงานในวันนี้ แบ่งได้ดังนี้
- กรมศุลกากร จำนวน 2,915,525 ชิ้น
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 447,511 ชิ้น
- สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จำนวน 276,643 ชิ้น


ปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เป็นการทำลายอุตสาหกรรมภายในประเทศ นักลงทุนใหม่ขาดความเชื่อมั่นเพราะเกรงถูกลอกเลียนแบบ อีกทั้งสินค้าบางประเภทอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค นอกจากนี้รัฐยังต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจับกุมและทำลายสินค้าเหล่านี้อีกด้วย
.jpg)
.jpg)
.jpg)
.jpg)



อย่างไรก็ตาม มีคำถามถึงประเด็นการนำไปบริจาคแทนการทำลาย ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า การนำของผิดกฎหมายไปแจกจ่ายให้คนใช้ต่อ เป็นการทำผิดกฎหมายซ้ำ หากคนแจกเป็นเจ้าพนักงานยิ่งมีความผิดเป็น 2 เท่า ซึ่ง การทำลายของกลางถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปราบปราม ภายใต้ข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก(TRIPS) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ว่าจะไม่มีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์กับสู่ท้องตลาดอีก