จากเหตุเพลิงไหม้บ้านราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ซ.เพชรบุรี 18 เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ซึ่งทราบในภายหลังว่าอาคารดังกล่าว ก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและผังเมือง พ.ศ. 2535 ทำให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานในการควบคุมอัคคีภัยในปัจจุบัน สิ่งที่พอจะเป็นเครื่องช่วยผู้พักอาศัยได้คงต้องกลับมาใส่ใจ 'ถังดับเพลิง'
ร.ต.อ.พนม อ่ำนิ่ม ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามปกติถังดับเพลิงสีแดงที่ภายในเป็นผงเคมีแห้ง จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี แต่ต้องเก็บไว้ในที่ร่มและควรต้องได้รับการบำรุงรักษาจากบริษัทผู้จำหน่ายทุก 5 ปี หากเป็นถังดับเพลิงส่วนบุคคลหรือส่วนกลางชุมชน ควรมีการดูแลเบื้องต้นด้วยการยกถังขึ้นลงเทไปมาทุก 3-6 เดือน เพื่อให้สารเคมีที่อยู่ในถังไม่แข็งตัว
ส่วนวิธีการตรวจสอบถังดับเพลิงมาตรฐานว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ให้ดูที่มาตรวัดไนโตรเจน ลูกศรต้องชี้อยู่ในเกณฑ์สีเขียว หากลูกศรตกมาที่เลข 0 หมายความว่า ไม่มีแรงดันไนโตรเจนในถัง ซึ่งอาจเกิดจากการรั่วซึม ไม่สามารถใช้ดับเพลิงได้
ข้อควรรู้สำหรับประชาชนทั่วไป หากต้องการจะใช้ถังดับเพลิงเมื่อพบอัคคีภัย ให้จำ 4 คำ "ดึง ปลด กด ส่าย" ดังนี้
1. ดึงสลักที่เป็นกระเดื่องด้านบนออก
2. ปลดสายหัวฉีดออกจากตัวถัง โดยจับบริเวณปลายสาย
3. กดคันบีบบริเวณที่หิ้วถัง เพื่อเริ่มฉีดสารเคมี
4. ส่ายปลายสายขณะฉีด เพื่อให้สารเคมีไปให้ทั่ว เน้นบริเวณฐานไฟไหม้
(ภาพจาก : imperial ถังดับเพลิง , สำนักความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์)
ทั้งนี้ ถังดับเพลิงทุกถังเมื่อเริ่มเปิดวาล์ว จะฉีดสารเคมีออกมารอบเดียวจนหมดถัง ดังนั้นก่อนเริ่มใช้งานควรตั้งสติและอยู่ในจุดที่ใกล้ต้นเพลิงมากที่สุด
อภิสุข เวทยวิศิษฏ์