เรื่องนี้อาจดูเป็นอะไรที่ใกล้ตัว เมื่อขับรถได้ก็ต้องใช้เบรกเป็นซึ่งเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่ผู้ขับขี่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบวิธีเหยียบเบรกที่ถูกต้องนั้น ควรทำอย่างไร ดังข้อสงสัยดังต่อไปนี้
- เวลาเบรกรถเราควรยกเท้าเหยียบแป้นเบรก หรือว่า วางส้นเท้าไว้ที่พื้นรถแล้วพลิกข้อเท้าจากคันเร่งฯมาเหยียบเบรก?
- ระหว่างเหยียบย้ำเบรก กับ ไม่ต้องเหยียบย้ำเบรก ต่างกันอย่างไร?
- สมมุติว่า ถึงทางโค้ง เราควรเหยียบเบรกก่อนเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ หรือว่าเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำก่อนเหยียบเบรก?
- ระยะเบรกของรถแต่ละคันเท่ากันไหม หยุดได้ในเวลาใกล้เคียงกันหรือไม่?
- ระบบเบรก ABS ใช้อย่างไรจึงถูกวิธี ได้ประสิทธิภาพและประโยชน์มากสุด?
ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วใช่ไหมครับว่า เราใช้เบรกกันเป็นกันถูกต้องกับหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ กับ 'พีระพงษ์ กลั่นกรอง' (รายการ คาถากันชน) ตอน : เบรก ระยะเบรก...และ ABS
Cr.whichcar
วัตถุประสงค์ของการใช้เบรกหรือเหยียบเบรก..เหยียบเบรกเพื่ออะไร? เราเหยียบใช้เบรก เพื่อหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน ได้แก่ เพื่อชะลอความเร็ว , หยุดรถทั้งปกติและกะทันหัน , ถ่ายน้ำหนักกดให้ล้อรถคู่หน้าเกาะถนนและเลี้ยวได้มั่นคงขึ้น , ลดอาการท้ายรถปัดหมุนก่อนที่จะเปลี่ยนจังหวะเกียร์ลงต่ำ ดังนี้จะเห็นว่าเราได้ประโยชน์จากการเบรกหลายอย่าง ไม่เฉพาะแค่ชะลอความเร็วและหยุดรถเท่านั้น ตามที่หลายคนเข้าใจ
Cr.carfromjapan
ถามว่า การเหยียบเบรกอย่างถูกวิธีนั้นทำอย่างไร? คำตอบคือ ใช้เท้าขวาเหยียบเบรก โดยยกส้นเท้าให้ลอยจากพื้นรถ แล้วออกแรงเหยียบกดแป้นเบรกลงไปตรงๆ ไม่บิดข้อเท้า ไม่วางส้นเท้าไว้ที่พื้นรถ ซึ่งจะสามารถได้แรงเหยียบเบรกมากกว่า และไม่เหยียบย้ำแป้นเบรกหลายๆครั้งถี่ๆ เพราะจะทำให้เบรกทำงานไม่ต่อเนื่อง ไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจทำให้รถสูญเสียการเกาะถนน การทรงตัวกะทันหันได้ เราจะเหยียบย้ำเบรก ก็ต่อเมื่อระบบเบรกชำรุด เช่น เบรกแตก ดังนี้เป็นต้น
Cr.chobrod
ส่วนการเปลี่ยนเกียร์หรือ Change เกียร์ลงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ธรรมดาหรือว่าเกียร์อัตโนมัติ ช่วยให้รถชะลอความเร็วหรือว่าหยุดรถได้ดีและมั่นใจมากขึ้น เราเรียกเทคนิคการเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำนี้ว่า “Engine Brake” แต่การเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำนี้มีวิธีปฎิบัติก็คือ “ต้องเหยียบเบรกก่อนเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ” เพื่อที่จะลดโอกาสหรือป้องกันท้ายรถปัดหมุนและชิ้นส่วนกลไกเสียหาย
Cr.usciencecompendium
Q : ระยะเบรกของรถแต่ละยี่ห้อ รุ่น แต่ละคัน ต่างกันไหม สมมุตว่าวิ่งมาที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วเหยียบ เบรกให้รถหยุดนิ่งสนิททันที ระยะทางที่เบรกจนรถหยุดนั้นรถแต่คันละต่างกันไหม?
A : กรณีที่เป็นรถใหม่ป้ายแดง รถที่มีระบบเอบีเอสเหมือนกัน เท่าที่เคยทดสอบสมรรถนะและบันทึกตัวเลขไว้ รถยนต์นั่งซีดาน 4 ประตู ที่มีน้าหนักไม่เกิน 1,500 กิโลกรัม รถหยุดได้ในระยะทางประมาณ 34-36 เมตร , รถยนต์นั่งซีดาน 4 ประตูที่มีน้ำหนัก เกินกว่า 1,800 กิโลกรัม จะหยุดได้ในระยะทาง 38-40 เมตร ส่วนรถกระบะปิคอัพ หยุดได้ในระยะทาง 44 เมตร
กรณีรถเก่าหรือรถที่ผ่านการใช้งานมานานปีแล้ว ระยะเบรกของรถแต่ละคันยิ่งต่างกันหรือไม่เท่ากัน แม้จะเป็นรถยี่ห้อและรุ่นเดียวกันก็ตาม เพราะชิ้นส่วนต่างๆรวมทั้งยางล้อนั้นเสื่อมสภาพไม่เท่ากัน เช่น หนึ่ง-ผ้าเบรก, สอง-คุณภาพน้ามันเบรก, สาม-สภาพยางล้อ, และ สี่- ศูนย์ล้อรวมทั้งระบบกันสะเทือน
Cr.apinsurance
สุดท้ายในเรื่องของระบบเบรก ABS เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่าจะต้องเหยียบเบรกอย่างไรให้ระบบ ABS ทำงาน? คำตอบคือ ให้เหยียบเบรกทีเดียวแช่ไว้ ไม่ต้องเหยียบเบรกย้ำๆหลายครั้ง จากนั้นจึงเลี้ยวหลบหรือบังคับทิศทางรถตามที่เราต้องการ จะได้ประสิทธิภาพจากระบบเบรกABSมากที่สุด เพราะระบบABSทำงานด้วยคอมพิวเตอร์จึงไม่ต้องย้ำเบรก เพราะถ้าปล่อยเบรกจะเท่ากับไปปิดสวิตช์ไฟ ทำให้ABSไม่ทำงาน
Q : ระบบเบรก ABS ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แล้วจะมีโอกาสเสียไหม?
A : ABS คือ ระบบที่ทำงานประสานกันระหว่างไฮดรอลิคเบรก กับระบบสมองกลอิเลคทรอนิคส์ ปกติจะทนทานและไม่เสียอะไรง่ายๆ แต่ถ้าขัดข้องก็จะมี “ไฟเตือน” ขึ้นที่หน้าปัดมาตรวัด แต่ระบบเบรกหลัก ซึ่งทำงานด้วยไฮดรอลิคยังทำงานอยู่ปกติ เพียงแต่ให้ระวังว่ารถจะเสียหลักหรือท้ายรถปัดหมุนเวลาเหยียบเบรกแรงๆ เท่านั้นครับ