บทความนี้ไม่ได้เข้าข้างคนผิด แต่บางครั้งคนผิดอาจจะถูกกลั่นแกล้ง (Cyber Bullying) หรืออาจจะไม่ได้ตั้งใจทำผิด หรืออาจพลาดพลั้งไปตามอารมณ์ แต่ถึงกระนั้นสังคมออนไลน์ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิ์ไปซ้ำเติมผู้อื่นเสมอไป ลองมาดูกันว่าหากวันนึงต้องตกเป็นเจำเลยทางโซเชี่ยลแล้ว ควร"เอาชีวิตรอด"อย่างไรบ้าง
1. เงียบ
ดีที่สุดเลย อย่าตอบโต้เด็ดขาด โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เรื่องราวยังอยู่ในวงเล็กๆ เลือดยังไหลไม่เยอะ ให้เงียบเข้าไว้ อย่าแสดงตัว
2. ปิดโซเชี่ยล
เฟซบุ๊ค ไอจี ทวิตเตอร์ ฯลฯ ทุกช่องทางโซเชี่ยลปิดเสียให้หมด จำไว้ว่าเพื่อนในโซเชี่ยลของคุณ ไม่ได้รักคุณทุกคน หลายครั้งที่เหยื่อถูกเปิดวาร์ป ก็มาจากเพื่อนเหล่านี้นั่นแหละ
3. ตอบคำถามคนใกล้ตัว
ครอบครัว เพื่อน แฟน และคนใกล้ตัว เขากำลังอยากได้ยินคำอธิบายจากคุณอยู่นะ พูดความจริงกับพวกเขาไป ถ้าผิดก็ขอโทษ ยอมรับผิด อย่าโกหกเด็ดขาด เพราะพวกเขาพร้อมเป็นกำลังใจให้คุณ พร้อมอยู่ข้างเดียวกับคุณ ถ้าคุณยังไปโกหกพวกเขาอีกจะยิ่งแย่ อย่าลืมว่าพวกเขาฟังความข้างเดียวมาก่อนแล้ว เขาพอจะตัดสินอะไรได้ในระดับนึง ถ้าคุณยังโกหกแล้วพวกเขาจับได้ พวกเขาก็คงคิดในใจแค่ไม่พูด แต่อย่าหวังว่าพวกเขาจะช่วยปกป้องคุณนะ
4. ขอโทษ
เมื่อมาถึงจุดที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว "คำขอโทษ"เท่านั้นที่ผู้คนอยากได้ยิน ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ขอเพียงคุณขอโทษ และยอมรับกับการกระทำ คนไทยขี้สงสาร พร้อมให้อภัยคุณในระดับหนึ่ง หากคุณไม่ผิด คุณต้องมีเหตุผลมาอธิบายเพียงพอ มีพยานหลักฐานให้พร้อม ห้ามแถ และห้ามใช้อารมณ์ตอบโต้โดยเด็ดขาด อย่าลืมว่าชาวโซเชี่ยลส่วนใหญ่มักถูกชี้นำทางความคิดโดยการรับสารครั้งแรก การอ่านพาดหัว และทิศทางของคอมเมนท์ไปแล้ว คุณพูดทีหลังดังยากกว่าถ้าไม่ชัดเจนจริงๆ
5. ลืม
นอกจากคนไทยขี้สงสารแล้ว คนไทยยังลืมง่ายอีกด้วย หลังการขอโทษ ยอมรับผิด และปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น เวลาเท่านั้นที่จะช่วยได้ ปล่อยให้โลกหมุนไป ไม่นานหรอกเดี๋ยวก็มีเรื่องอื่นมาแทน
ขอย้ำว่า ทุกคนสามารถพลาดพลั้งกันได้ แต่ไม่ใช่ต้องตกเป็นเหยื่อทางโซเชี่ยล บางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ผิดหรือถูกบางครั้งไม่ใช่ชาวโซเชี่ยลที่ตัดสินเท่านั้น แต่ละคนเองก็ต้องรู้จักการให้อภัย ใครจะรู้วันหนึ่งอาจเป็นคุณ!
ขอบคุณภาพจาก : Talkspace , shutterstock , Bromium , socialmediaimpact