!-- AdAsia Headcode -->

มาดู '3 โรคทางมือสุดฮิต' ของคนทำงาน รู้ก่อนแก้ไขได้

19 มิถุนายน 2561, 22:00น.


     มือ นับเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญ ใช้ในการหยิบจับสิ่งของ รวมทั้งทำกิจวัตรประจำวันแทบทุกอย่างในชีวิต หากมือประสบปัญหาหรือเกิดอุบัติเหตุอันเป็นสาเหตุทำให้มือเกิดความผิดปกติไป ควรรีบทำการรักษาจากแพทย์ที่มีประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมือเป็นอวัยวะขนาดเล็กและมีความซับซ้อน ที่ต้องใช้ความละเอียดเป็นอย่างมากในการรักษา 




     นพ.ยงค์ศักดิ์ เลียงอุดม  ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ ศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า มือมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกมากที่สุดในร่างกายรองจากดวงตา จะสังเกตว่าคนตาบอดจะใช้มือคลำอักษรเบล มือของเราประกอบไปด้วย กระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด และข้อเล็กๆ ปัญหาในมือที่พบได้บ่อยมีสาเหตุหลักจากอุบัติเหตุ และปัญหาที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งปัญหาที่เกิดจากการทำงาน 3 โรคมือสุดฮิตที่พบบ่อย ได้แก่ 


1.นิ้วล็อค เกิดจากการใช้งานมากไปหรือใช้มืออย่างไม่ถูกต้อง เช่น จับหรือเกร็งนิ้วมือเป็นเวลานาน จนเกิดการอักเสบที่โคนนิ้วมือ สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วมือ เมื่อปลอกหุ้นเอ็นอักเสบจะเกิดการหดตัว ทำให้เส้นเอ็นในปลอกประสาทถูกล็อค งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้ ทั้งนี้การรักษาโรคนิ้วล็อคในระยะแรก แพทย์จะรักษาให้หายอักเสบด้วยการทานยา หรือการฉีดยาก็จะช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานจนถึงขั้นล็อกแล้วปวดมาก งอเหยียดไม่ได้ ฉีดยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเอ็นที่มีปัญหาเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ 


2.เส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบ หรือโรคผังผืดเส้นประสาทที่ข้อมือ ซึ่งเป็นโรคมือที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากบริเวณข้อมือจะมีช่องว่างจำกัด และเส้นประสาทเส้นใหญ่อยู่ในบริเวณนั้น คนที่มีการใช้ข้อมือมากๆ เยื่อหุ้มเอ็นเกิดการอักเสบ จากนั้นจะเกิดผังผืดไปกดเส้นประสาทที่ข้อมือ ทำให้เกิดอาการ 3 อย่างคือ ปวด ชาที่มือ มืออ่อนแรง ปวดร้าวขึ้นไปที่แขน สำหรับบางคนที่มีอาการมากจะสังเกตดูได้จากบริเวณเนินพระจันทร์ (กล้ามเนื้อนูนๆ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ) จะมีอาการชานิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง หากมีเป็นในระยะแรกจะมีอาการปวดชาเล็กน้อย แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดยา หรือใส่ปลอกข้อมือ หรือลดการใช้ข้อมือให้น้อยลง โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่หากมีผังผืดกดเส้นประสาทมากๆ กล้ามเนื้อบริเวณเนินพระจันทร์จะลีบฝ่อและหายไป มืออ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ได้ การผ่าตัดรักษาโรคนี้ใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็ก เพื่อขยายช่องเส้นประสาท ใช้เวลาประมาณ 10 -15 นาที โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดคือ แผลผ่าตัดห้ามโดนน้ำ 7 วัน จากนั้นแพทย์จะทำการตัดไหม ภายหลังตัดไหมแล้วสามารถกลับไปใช้งานได้ตามปกติ


3.เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานหนัก จนเกิดการอักเสบที่เอ็นบริเวณข้อมือทางด้านหลังฝั่งนิ้วหัวแม่มือ เกิดอาการเจ็บเมื่อกระดกนิ้วหัวแม่มือ การรักษาในระยะแรกทำได้โดยการประคบเย็นบ่อยๆ ตามด้วยการขยับเบาๆ เพื่อให้เอ็นมีการยืดตัว ไม่ควรทำรุนแรง ร่วมกับการพักการใช้มือข้างที่อักเสบ ขณะเดียวกัน โรคเนื้องอกเส้นประสาทบริเวณมือ คนไข้มักจะมาพบแพทย์ด้วยก้อนที่เกิดขึ้นบริเวณข้อมือ โดยจะรู้สึกเหมือนไฟช็อต มีอาการชามือ ปวด ปัญหาเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ เนื่องจากเส้นประสาทที่เราอาจมองเห็นจากภายนอกเป็นเส้นใหญ่ๆ ความเป็นจริงแล้วมีเส้นประสาทเส้นเล็กๆ อยู่ข้างในเป็นร้อยๆ เส้น ดังนั้น การผ่าตัดเนื้องอกในเส้นประสาทต้องใช้กล้อง Microsurgery ที่มีความละเอียดเป็นพิเศษในการตัดเนื้องอกหรือถุงน้ำในเส้นประสาทเพื่อแยกเส้นประสาทเล็กๆ ออกมา เพราะหากผ่าตัดโดนเส้นประสาทคนไข้อาจสูญเสียความรู้สึกที่มือได้ 




     ส่วนปัญหามือจากอุบัติเหตุ ได้แก่ กระดูกหัก เส้นเอ็นขาด เส้นเลือดขาด เส้นประสาทขาด หรือผิวหนังบอบช้ำ การรักษามือจึงต้องมีความซับซ้อนและความละเอียด หากเกิดอุบัติเหตุทางมือ เช่น มีดบาด หรือมือเข้าไปในเครื่องปั่น หรือเครื่องจักรจากการทำงานจนเกิดบาดแผล การดูแลเบื้องต้นก่อนมาโรงพยาบาลที่ถูกวิธีคือ ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดปิดและกดบาดแผล ถ้ามีบาดแผลที่นิ้วหรือข้อมือควรทาบด้วยไม้กระดานเล็กก่อนปิดผ้าก๊อซและพันด้วยผ้า ยึดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วหรือข้อมือบิดไปมา ปลายนิ้วอาจตายได้หากเลือดไปเลี้ยงไม่สะดวก และยกมือให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดออกน้อยลง




     แต่หากเกิดอุบัติเหตุจนกระทั่งนิ้วหรือมือขาด วิธีการที่ถูกต้องคือ เก็บอวัยวะส่วนนั้นมาโรงพยาบาลโดยใส่ถุงพลาสติกที่สะอาด มัดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปแช่ในน้ำแข็งเพื่อรักษาเซลล์ให้คงสภาพดี ไม่ควรนำอวัยวะที่ขาดแช่ในน้ำแข็งโดยตรงเพราะเนื้อเยื่ออาจตายได้ และควรรีบมาถึงโรงพยาบาลภายใน 6 ชม. หลักการผ่าตัดอุบัติเหตุทางมือคือ ต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อให้คนไข้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด 




     ฉะนั้นเมื่อมือเกิดปัญหาทางมือ คนไข้ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด และได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ เพื่อการดูแลกระดูกและข้อครบทุกส่วนของร่างกาย ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร. 1719
X