!-- AdAsia Headcode -->

เราเลิกกันเถอะ!!! แพทย์เตือน..งดเหล้าทันที เสี่ยงเกิดอาการภาวะถอนพิษเหล้ารุนแรงได้

23 กรกฎาคม 2561, 18:50น.


      อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าใกล้จะถึงวันเข้าพรรษาในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่แทบจะทุกหน่วยงานต่างพากันพูดถึง พากันรณรงค์มากที่สุดก็คือ "การงดเหล้า" ในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แต่คุณรู้หรือไม่ ว่าการงดเหล้าไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะงดได้เลย โดยเฉพาะผู้ที่ติดเหล้าหนักมากหากต้องหักดิบเลยในทันทีอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน!!!  

    ติดเหล้าหนักมาก สมองมีการเปลี่ยนแปลงจริงหรือ ?

    นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากปัญหาที่กรมสุขภาพจิตสำรวจพบว่า ประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1.8 หรือประมาณ 900,000 คน มีอาการติดเหล้า (Alcohol dependence) จึงได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคติดสุราขึ้นที่โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนามาตรฐานแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ และได้ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้ผู้ติดเหล้าสามารถเลิกเหล้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การดื่มเหล้าเป็นระยะเวลานานจะทำให้สมองของผู้ติดเหล้ามีการเปลี่ยนแปลง คือ สมองจะทำงานมากกว่าปกติเพื่อต้านฤทธิ์ของเหล้า ดังนั้นหากต้องหยุดเหล้าในทันทีอาจมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้



       หากงดดื่มเหล้าทันทีจะมีอาการอย่างไร ?

    ผู้ที่ดื่มเหล้าต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหากงดหรือหยุดดื่มเหล้าทันที จะก่อให้เกิดอาการภาวะถอนพิษเหล้าได้ นั่นคือ มือสั่น เหงื่อออก กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ซึ่งในช่วงนี้หลายคนตั้งใจที่จะเลิก หรืองดดื่มเหล้าทันทีอาจทนไม่ได้ก็จะกลับไปดื่มเหล้าใหม่ นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยมีอาการภาวะถอนพิษเหล้ารุนแรง ที่มักเกิดขึ้นในวันที่ 3-4 ของการงดดื่มเหล้า ทำให้เกิดอาการเพ้อ สับสน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง หลงผิด หรือเกิดอาการชักจากภาวะสมองติดเหล้าได้



     งดเหล้าทันทีก็ไม่ได้ แล้วแบบนี้จะทำยังไงดี ?

    ศูนย์เชี่ยวชาญโรคติดสุรา กรมสุขภาพจิต ได้มีข้อแนะนำการงดดื่มเหล้าอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อร่างกายเรา นั่นคือ ควรเริ่มจากค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อยแทนการงดหรือหยุดดื่มทันที เพราะอาจเกิดอาการถอนพิษเหล้าขึ้นได้ ซึ่งหากเกิดอาการที่รุนแรงคงไม่เป็นผลดีต่อตัวอย่างแน่นอน โดยผู้ที่ต้องการงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ควรลดปริมาณการดื่มเหล้าลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันเข้าพรรษา 28 กรกฎาคม จะสามารถเลิกหรือหยุดดื่มได้อย่างที่ตั้งใจโดยไม่ทำให้เกิดอาการถอนพิษสุราดังที่กล่าวไว้



       งดเหล้าไม่ใช่เรื่องง่าย! มีวิธีเพิ่มพลังให้จิตใจเข้มแข็งบ้างไหม ?

     นายแพทย์ธรณินทร์  กองสุข  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ได้ให้คำแนะนำเรื่องหลักการ “เพิ่มพลังสุขภาพจิต” (Resilience) เพื่อการเลิกเหล้าได้อย่างมีประสิทธิผล 5 วิธี ดังนี้

     1) ผู้ติดเหล้าต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตที่จะ ลด ละ เลิกดื่มเหล้าให้ได้ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกดื่มเหล้าเพื่อใคร เช่น เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก เพื่อคนรัก เพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นต้น และต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่จะเลิกเหล้าให้ชัดเจน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ



      2) คนรอบข้างต้องส่งเสริมให้ผู้ติดเหล้ารู้สึกดีและภาคภูมิใจในตัวเอง โดยชี้ชวนให้ค้นหาคุณค่าและความหมายที่ดีงามของชีวิต ทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และหน้าที่การงาน



       3) ครอบครัวต้องพร้อมที่จะเข้าใจ เห็นใจ ยอมรับ และเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการเลิกดื่มเหล้า เพื่อให้เขารู้ว่า ยังมีครอบครัวที่หวังดีและจริงใจ แม้ในยามเผชิญเหตุการณ์ที่ยากลำบาก



        4) คนรอบข้างช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ความพยายามตั้งใจให้การเลิกดื่มเหล้าได้นานขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จเป็นระยะ ๆ รวมทั้งควรกล่าวชื่นชมในทุกความสำเร็จ



        5) ผู้ติดเหล้าที่ตั้งใจเลิกดื่มควรสร้างสายสัมพันธ์อันดี กับบุคคลใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อน ร่วมงาน หัวหน้างาน ฯลฯ ที่สามารถเกื้อหนุนต่อตัวผู้ที่ติดเหล้าให้สามารถเลิกเหล้าได้นั่นเอง



        นอกจากนี้สำหรับใครที่ตั้งใจจะงดเหล้าเข้าพรรษาแต่ไม่สามารถลดปริมาณการดื่มลงได้ทันในช่วงนี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ก่อนวันที่จะเริ่มงด เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ยาลดการเกิดอาการถอนพิษสุรารุนแรง ณ โรงพยาบาลหรือศูนย์บำบัดใกล้บ้าน ก็จะทำให้ผู้ที่ต้องการงดเหล้าเข้าพรรษาสามารถงดได้ตามความต้องการอย่างปลอดภัย ทั้งนี้สามารถขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตจากสุราได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

     ที่มา : กรมสุขภาพจิต

     รูปภาพ : lifespa.com, drugtreatmentcenterslongbeach.com, cyclesofchangerecovery.com, fivewaystowellbeing.org, accessenglish.com, projectauthenticity.org, vivaling.com



 

X