!-- AdAsia Headcode -->

1 สิงหาคม 2561 พร้อมใจกันลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก ร่วมทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม

25 กรกฎาคม 2561, 20:00น.


        นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีนโยบายเดินหน้าผลักดันการคัดแยกขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบ โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นทัพหลัก ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเร่งรัดแก้ปัญหาขยะล้นภายใต้โครงการ ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยจะเดินหน้ากิจกรรม ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก และกิจกรรมอื่น ๆ พร้อมกันทั่วประเทศ 1 สิงหาคม 2561



        ทั้งนี้ในแต่ละปีประเทศไทยมีการใช้ ถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 9,750 ล้านใบต่อปี ซึ่งทุกคนทราบดีว่าโฟมและพลาสติกเป็นวัสดุที่คงทนต่อสารเคมี ไม่เป็นสนิท ไม่ผุกร่อน นั่นจึงทำให้ใช้เวลานานในการย่อยสลาย และเมื่อถูกทิ้งเป็นขยะต่อเนื่องก็จะก่อให้เกิดเป็นปัญหาตามมา เช่น ปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำจนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ปัญหาขยะล้นเกินกระจัดกระจายตามแม่น้ำลำคลอง ทะเล อุทยาน หรือแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและสัตว์ป่าที่มักกินถุงพลาสติกเข้าไป และหากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะยิ่งสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

        และรู้หรือไม่ว่าขยะพลาสติกส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80% คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่เกิดจากการไปจ่ายตลาด การไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ดังนั้นเราทุกคนจึงมีส่วนช่วยลดการใช้ขยะพลาสติกและโฟมด้วยวิธีง่าย ๆ ได้ดังนี้

        1. ซื้อของน้อยชิ้นไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก หากซื้อของชิ้นเดียว จำนวนไม่มาก หรือซื้อเพื่อที่จะทานทันที เช่น นม ขนมขบเคี้ยว และน้ำดื่ม ฯลฯ ให้บอกพนักงานว่า ไม่ต้องใส่ถุง แค่นั้นก็ลดปริมาณขยะได้แล้ว



        2. หันกลับมาใช้ภาชนะใช้ซ้ำ เช่น ถุงผ้า ตระกร้า ย่าม ปิ่นโต ซึ่งเป็นภาชนะใช้ซ้ำที่มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถล้างทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงไม่เป็นการสร้างขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น



        3. หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกและโฟมสำหรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น นำใบตองและหยวกกล้วยมาใช้ทำกระทงในเทศกาลลอยกระทง หรือทำพวงหรีด เป็นต้น



        4. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เช่น ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง หรือชานอ้อย โดยจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือมาตรฐานที่ใกล้เคียง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขอนามัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



        5. นำพลาสติกและโฟมที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำ เช่น การนำถุงพลาสติกใช้แล้วมาทำเป็นถุงขยะในครัวเรือน หรือถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเจาะรูข้างใต้ทำเป็นกระถางต้นไม้



        ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พลาสติกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตตั้งแต่ลืมตาตื่นในตอนเช้าจนถึงเข้านอนในเวลาค่ำ จนแทบจะเรียกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเลยก็ว่าได้ มุมหนึ่งพลาสติกให้ความสะดวกกับเราในรูปของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่อีกมุมพลาสติกก็เป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจึงต้องใช้พลาสติกแต่พอดี ใช้อย่างรู้คุณค่า เพื่อรักษาโลกที่เป็นบ้านของเราและอีกหลายชีวิตให้คงอยู่ไปอีกนาน



        ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

        ภาพประกอบ : financialtribune , thepinsta , ccentral.ca , pingganmangkuk , goodhousekeeping



 

X