เขียงไม้หรือพลาสติกแบบไหนดีกว่ากัน?
อ.ดร.วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ ได้อธิบายว่า ทั้งเขียงไม้และเขียงพลาสติกจริง ๆ แล้วไม่มีแบบไหนดีกว่ากันเพราะต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยจะอธิบายพอสังเขป ดังนี้
เขียงพลาสติก
- ข้อดี น้ำหนักเบา หาซื้อง่าย ราคาถูก
- ข้อเสีย ถ้าเสียหรือสึกกร่อนอาจเกิดการปนเปื้อนของพลาสติกลงไปในอาหารก่อให้เกิดอันตรายได้
เขียงไม้
- ข้อดี เนื่องจากวัสดุจากธรรมชาติเวลาเกิดการสึกกร่อนแล้วปนเปื้อนในอาหารจึงไม่ทำให้เกิดอันตราย
- ข้อเสีย คือ สึกกร่อนได้ง่าย โดยตัวเนื้อไม้จะมีรูพรุนค่อนข้างมาก สะสมความชื้นได้ง่าย สะสมจุลินทรีย์ได้ง่ายกว่าเขียงพลาสติก
ผงฟู-น้ำส้มสายชู ควรนำมาใช้ล้างเขียงหรือไม่?
อ.ดร.วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ กล่าวว่า การใช้น้ำส้มสายชูหรือว่าผงฟูในการล้างเขียงสามารถนำมาใช้ได้แล้วก็ปลอดภัยด้วย แต่น้ำส้มสายชูที่นำมาใช้ควรเป็นกรดชนิดอ่อนที่ใช้ได้ในอาหารอยู่แล้ว (น้ำมะนาว/มะกรูดก็สามารถใช้ได้นะคะ) โดยกรดจากน้ำส้มสายชูหรือมะนาวจะสามารถฆ่าจุลินทรีย์ได้บางประเภทได้ หรือว่าการใช้ผงฟูในการนำมาล้าง ผงฟูจะเพิ่มความเป็นด่างให้กับน้ำซึ่งอาจจะฆ่าจุลินทรีย์บางประเภทได้เช่นกัน รวมถึงตัวผงฟูเองก็จะช่วยกำจัดคราบของอาหารที่ปนเปื้อนอยู่ในเขียงได้ด้วย
ใช้เขียงอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด
1. ถ้ามีการเปลี่ยนประเภทของอาหารในระหว่างการใช้เขียง เช่น จากเนื้อสัตว์มาเป็นผักหรือผลไม้ก็ควรจะล้างหรือเช็ดเขียงก่อนจะเปลี่ยนประเภทอาหาร
2. หลังการใช้งานเขียงเสร็จลงแล้ว เราควรนำมาล้างให้สะอาดมาก ๆ อีกครั้ง โดยการใช้น้ำยาล้างจาน น้ำส้มสายชู หรือผงฟูคู่กับฟองน้ำล้างจานเท่านั้น
3. ไม่ควรสับปังตอรวมถึงใช้ฝอยขัดหม้อขัดเขียงเป็นอันขาด เพราะหากสับปังตอหรือใช้ฝอยขัดหม้อขัดจะทำให้เกิดร่อง เกิดรอยบนเขียงขึ้น ซึ่งร่องรอยนั้นจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่สะสมของเชื้อโรค จุลินทรีย์ในอนาคตนั่นเอง
4. ควรนำเขียงไปผึ่งให้แห้ง โดยการนำไปตากแดดหรือวางในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ว่าจะเพิ่งล้างเสร็จใหม่ ๆ หรือเมื่อไม่ได้ใช้งานเลย โดยควรทำอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้
อย่างไรก็ตามเขียงไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์การทำอาหารที่สะสมเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ไว้เพียงอย่างเดียว ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ได้เช่นกัน หากเราดูแลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี ดังนั้นการดูแลอุปกรณ์ที่ใช้ทำอาหาร ใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ถูกวิธี จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำ เพื่อร่างกายของเราจะได้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคใด ๆ ทั้งปวง
ที่มา Youtube Channal : Mahodol Channal
รูปภาพ soluzionidicasa.com, horapa.com, th.aliexpress.com, Youtube Channal : FoodTravelTVChannel,