!-- AdAsia Headcode -->
การสูญเสียอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในแต่ละปีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ “ศีรษะ” ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หมวกกันน็อกเป็นอุปกรณ์เดียวที่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในขณะที่ประสบอุบัติเหตุ
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) นำโดย นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เป็นประธานในในการเปิดผลสำรวจอัตราการสวมหมวกกันน็อกในผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในปี 2561 ที่ผ่านมา สสส.เองให้ความสำคัญกับการมีฐานข้อมูลการสวมหมวกนิรภัยซึ่งเป็นฐานเดียวของประเทศ ณ ตอนนี้ ที่เก็บมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบรวมกว่า 9 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย
แม้ว่าในปี 2554 รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%” แต่ผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศยังคงมีแนวโน้มคงที่ ไม่ถึง ร้อยละ 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยกัน
ด้าน นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 แล้ว โดยสำรวจผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง ร้อยละ 45 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเพียง ร้อยละ 52 เปอร์เซ็นต์ และ ร้อยละ 22 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
เมื่อจำแนกกลุ่มอายุผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 48 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มวัยรุ่น ร้อยละ 22 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มเด็กเฉพาะผู้โดยสาร มีการสวมหมวกนิรภัยเพียง ร้อยละ 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
โดยจังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาค เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (ปี 2559-2561) ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ร้อยละ 53 เปอร์เซ็นต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ ร้อยละ 46 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลางและตะวันออก ไม่รวม กทม. จ.นนทบุรี ร้อยละ 59 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ จ.ภูเก็ต ร้อยละ 61 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่กรุงเทพมหานครเมืองขนาดใหญ่และมีความเข้มงวดในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับภาคีต่างๆ ได้ประกาศนโยบาย “กรุงเทพมหานคร เมืองต้นแบบ สวมหมวกนิรภัย 100%” และดำเนินการตลอดปี 2561 ส่งผลให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ สวมหมวกนิรภัยสูงถึง 85% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้โดยสารที่มีการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 39 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 เป็น ร้อยละ 55 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561 สูงที่สุดในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนา “มุมมองและทิศทางในการขับเคลื่อน การส่งเสริมการสวมหมวกกันน็อก” โดย พ.ต.ต.จีรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. กล่าวว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการกระตุ้น นโยบาย รวมถึงการรณรงค์ และมีการติดป้ายเตือน รวมถึงเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งผลักดันการใช้เทคโนโลยีการใช้กล้องตรวจจับเข้ามาช่วย ในบางพื้นที่ใน กทม. แต่ถึงอย่างไร ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างพัฒนาประสิทธิภาพให้เพิ่มขึ้น ก่อนนำมาใช้จริงในทุกพื้นที่ต่อไป
Cr. ภาพจากเว็บไซต์ : mgronline.com