ผู้สูงอายุควรระวัง!! มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของจุด ปื้น ไฝตามร่างกาย แพทย์ชี้แนะหากตรวจพบในระยะเริ่มต้นรักษาให้หายได้

20 สิงหาคม 2562, 15:14น.


            เมื่อพูดถึง “มะเร็งผิวหนัง” ที่พบได้น้อยแต่กลับเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุ คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ซึ่งมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มีอาการน่ากลัวขนาดไหน รศ. นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมาให้คำแนะนำถึงโรคนี้กัน



          มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Malignant Melanoma) เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย แต่รุนแรงมาก สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆอวัยวะของเรา ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ โคนเล็บ แขน ขา ลำตัว โดยมะเร็งชนิดนี้จะสังเกตได้จากไฝ ตุ่ม หรือก้อนสีดำเข้ม ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเทศไทยเรา สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2557 ระบุว่ามีผู้เป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา เพศชาย 215 คน เพศหญิง 238 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับการเกิดที่ทั่วไปจะพบได้น้อย



            อาการของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามีลักษณะ ดังนี้



         เกิดจุดน้ำตาลแดง ปื้นแดงดำ หรือไฝตามผิวหนังเป็นจำนวนมาก โดยขึ้นในตำแหน่งใหม่ๆ หรือไฝที่ร่างกายเรามีอยู่แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไป



          - บริเวณขอบจุด ปื้น หรือไฝนั้นๆ ขรุขระ และมีขนาดใหญ่กว่าขนาดไฝปกติ



          สีของจุด ปื้น หรือไฝจะมีมากกว่า 1 สี (ไม่เหมือนสีไฝเดิม)



          - บางคนอาจมีอาการคัน และเลือดออกจากจุด ปื้น ไฝนั้นๆ ด้วย



            ในส่วนของการรักษานั้นมีหลายวิธีได้แก่ ผ่าตัดผิวหนัง ขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า จี้เย็น เคมีบำบัด ฉายแสง ฉายรังสี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น เช่น หากตรวจพบว่าเพิ่งเป็นในระยะเริ่มต้น แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดส่วนที่ผิดปกติออกได้ แต่หากเป็นมากขึ้นอาจมีการให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสงร่วมด้วย ซึ่งแพทย์สามารถรักษาให้อาการดีขึ้น ไม่เป็นอันตรายได้ ในกรณีที่ตรวจเจอโรคระยะเริ่มต้น แต่ทั้งนี้ หากแพทย์ตรวจพบในระยะหลังๆ หรือขณะที่โรคกำลังลุกลามเป็นแผลเหวอะแล้ว ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เช่นกัน



            อย่างไรก็ตาม เราควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดทุกวัน แต่หากจำเป็นต้องโดนก็ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หรือทาครีมที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป (ในผู้ที่มีผิวขาวควรใช้ครีมที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป) รวมถึงสังเกตความผิดปกติของผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ โคนเล็บ ของตนเองเป็นประจำ ซึ่งหากเป็นผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่มักมีปัญหาสายตา อาจไม่ทันได้สังเกตตัวเองและเป็นผู้มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ ลูก หลาน ก็ควรเป็นผู้ช่วยสังเกตความผิดปกติของผิวหนังแทน และหากพบว่าเป็นไฝ หรือปื้นขึ้นบริเวณผิวหนังเป็นระยะเวลานาน หรือมีลักษณะเปลี่ยนไป ให้รีบมาพบแพทย์ทันที



 



ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รูปภาพ : กระทู้ Pantip สามมิติ



 

X