ปัจจุบันการวิ่งมาราธอนจัดเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งหลายๆ หน่วยงานก็ได้มีการสนับสนุนจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมกันทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัด และเพื่อให้กิจกรรมออกกำลังกายวิ่งมาราธอนเหมาะสม ปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกมาแนะนำนักวิ่งมาราธอนโดยเฉพาะเพศชายที่มีอายุ 40 ปี และเพศหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมประเมินภาวะและโรคต่างๆ ที่อาจเป็นความเสี่ยงจนนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้
สำหรับนักวิ่งมาราธอนที่ต้องวิ่งในระยะทางไกลอย่างต่อเนื่องทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 40- 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ ซึ่งจริงๆ แล้วในการวิ่งมาราธอนไม่ว่าจะด้วยระยะทางใดก็ตามต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ นั่นคือ
- ต้องฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องเรื่อยๆ เพื่อร่างกายได้มีการปรับตัวให้พร้อมต่อการวิ่งที่ต้องใช้ร่างกายในทุกๆ ส่วนเป็นเวลานาน
- ประเมินสภาพร่างกาย และโรคต่างๆ รวมไปถึงโรคประจำตัว อย่าง โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ฯลฯ ที่อาจกำเริบขณะวิ่งจนนำไปสู่การเสียชีวิต
- ก่อนลงวิ่งต้องอบอุ่นร่างกายให้พร้อม ทั้งระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติ และหัวใจหยุดเต้นขณะวิ่งได้
- ควรเลือกทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้มากขึ้นกว่าเดิมก่อนวิ่ง 1 วัน เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอ และในเช้าวันวิ่งก็ควรรองท้องด้วยอาหารเบาๆ อย่าง นม กล้วย โยเกิร์ต ฯลฯ
- ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มสุรา รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นตากันแดด ครีมกันแดด ฯลฯ ไปด้วย
มาตรฐานการวิ่งมาราธอนประเภทถนนโดยสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ จะเน้นไปที่การออกแบบการแข่ง ไม่ว่าจะเป็นการวางเส้น ความปลอดภัย การจัดน้ำดื่มและอาหาร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยได้มีการนำมาตรฐานดังกล่าวมาต่อยอด โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพไทย สสส. และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และปรับปรุงในปี พ.ศ. 2562
โดยมาตรฐานการวิ่งมาราธอนของประเทศไทยที่ได้นำมาต่อยอดแล้ว มีดังนี้
- จัดให้การแข่งขันวิ่งมาราธอนทุกประเภทต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน
- จุดปฐมพยาบาล จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ จุดปฐมพยาบาลหลัก และจุดปฐมพยาบาลรอง
- โดยจุดปฐมพยาบาลหลัก เป็นจุดให้บริการขนาดใหญ่ มีเครื่องมือ และบุคลากรการแพทย์ที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ
- ส่วนจุดบริการปฐมพยาบาลระดับรองลงไป จะคอยปฐมพยาบาล ช่วยให้นักวิ่งคลายอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาการพอง เสียดสี ฯลฯ รวมถึงเพื่อขนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปยังสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์รองรับที่เหมาะสมต่อไป
- ตลอดระยะทางวิ่งจะต้องมีจุดให้น้ำ และจุดปฐมพยาบาลระดับรองลงไปทุก 5 กิโลเมตร โดยจุดปฐมพยาบาลต้องตั้งอยู่ในระยะประมาณ 100 เมตร หลังจากจุดให้น้ำ
ข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
รูปภาพ : FB Page ThaiRunฮับความสุขนักวิ่ง