!-- AdAsia Headcode -->
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ร่วมกับสถานีวิทยุ จส.100 จัดทริปท่องเที่ยวเส้นทาง กรุงเทพฯ – อุทัยธานี “ผ้างามเล่าเรื่องเมืองเหนือ” ในวันที่ 7-8 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา
การเดินทางครั้งนี้ บริษัทขนส่ง จำกัด ได้สนับสนุนรถบัสในการเดินทางพร้อมคนขับ 2 ท่าน คือคุณภานุวัฒน์ อินทร์ฑัวย่าน และคุณสมหวัง เขตสันเทียะ พร้อมผู้ช่วยอีก 2 ท่าน คือ คุณกีต้า ปิยะสิงห์ และคุณเดชา ใหม่จันทร์ รวมถึงสนับสนุนของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมเดินทางอีกจำนวนหนึ่ง
อุทัยธานี จังหวัดเล็กๆ ที่ผู้คนที่นี่มีชีวิตอิงแอบกับสายน้ำสะแกกรัง เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีสิ่งดีๆ มากมายแอบซ่อนอยู่ สิ่งพิเศษอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนที่นี่มีอดทนและมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวก็คือ ชื่อเสียงในด้านการ ทอผ้าลายโบราณ ที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี
ยามรุ่งอรุโณทัย สุริยันต์ทอแสงรำไรบอกเวลาตอนนี้ 6 โมงแล้ว เรานัดรวมพลที่หน้าตึกไทย บรรยากาศผู้ร่วมเดินทางดูตื่นเต้นที่จะได้ร่วมเดินทางเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม ที่จะได้เรียนรู้
หลังจากได้ลงทะเบียนพร้อมกับรับประทานอาหารเช้ากันเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาล้อหมุนเราเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ ก็ถึงที่จุด Check-in ที่ 1 ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าฝ้ายลาวครั่งบ้านนาตาโพ แวะชม ช้อปผ้าฝ้ายทอลายพื้นเมือง
ผ้าทอพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น แต่ละภาคจะมีรูปแบบของสีสัน ลวดลาย และกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันไป แม้ว่าจะผลิตขึ้นมาจากวัตถุดิบประเภทเดียวกัน คือฝ้ายหรือไหม แต่ละที่ก็จะมีเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อทางวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ผสมผสานกับค่านิยมในสังคมที่สืบทอดกันมาจากชุมชนต้นกำเนิดของตนเอง
ผ้าทอ เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตวัฒนธรรมและอารยธรรมของกลุ่มชนในท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา หญิงไทยในสมัยโบราณ ได้รับการฝึกให้ทอผ้าตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้าบูชาพระ ของกำนัล ตลอดจนถึงเครื่องแต่งกายพิธีแต่งงานของตนเอง การทอผ้าจึงเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาโดยตลอด จวบจนถึงปัจจุบัน
การทอผ้าเป็นวิถีชีวิตของคนอุทัยธานีที่มีมาช้านานแล้ว มีทั้งผ้าฝ้าย ไหม และฝ้ายแกมไหม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ลวดลายโบราณมีการอนุรักษ์ไว้ อายุไม่ต่ำกว่า 100-200 ปี ลายผ้าสามารถอธิบายวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภูมิปัญญา ของชุมชนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน อุทัยธานีมีกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองทั้งหมด 35 กลุ่ม ลวดลายโบราณที่มีมากกว่า 60 ลาย ได้รับการอนุรักษ์ และถ่ายทอดภูมิปัญญามาจนถึงปัจจุบัน
ผ้าทอลายโบราณของ จ.อุทัยธานี สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นลาวครั่ง อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง เมื่อราวปี พ.ศ. 2530 เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มีลายพญานาค ลายขอ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนใหญ่นิยมทอผ้าฝ้าย ไหมย้อมสีธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่หลายกลุ่ม เช่น ชุมชนทอผ้าบ้านนาตาโพ ชุมชนทอผ้าผาทั่ง ชุมชนทอผ้าบ้านโคกหม้อ
ผ้าทอบ้านนาตาโพ มีลวดลายและสีสันสวยงาม เส้นฝ้ายย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น ใช้ครั่งในการให้สีสันสีแดง ซึ่งเป็นที่นิยมมาแต่โบราณ และยังมีสีสันจากวัตถุดิบอื่น ๆ ในท้องถิ่น เช่น ดอกไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ สร้างลวดลายตามจินตนาการ จากสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ รูปสัตว์ ดวงดาว
ซึ่งผ้าซิ่นของที่นี่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนตีน (เชิงผ้าซิ่น) เอกลักษณ์ของชาวบ้านนาตาโพคือส่วนตีนซิ่นจะต้องเป็นสีแดง ส่วนตัวและหัวจะเป็นสีอะไรก็ได้
หลังจากช้อปกระฉูดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ละท่านได้ของใช้ที่ถูกใจกันจนยิ้มแก้มปริกันเลยทีเดียว และชมไม่ขาดสายว่าลายผ้าสวยสดงดงามจริงๆ ทั้งสีสันและรายละเอียดในการถักทอในแต่ละผืน
เดินช้อปกันจนเพลินรู้ตัวอีกที ท้องเริ่มหิวแล้วมองดูเวลาก็เกือบเที่ยง เราพาคณะเดินทางไปที่ร้านอาหารครัวมัลดาเลย์รีสอร์ท เมนูอาหารที่มีวัตถุดิบจากปลาเป็นหลัก ใครที่ชื่นชอบในปลาขอแนะนำว่าอุทัยธานีนี้ปลาอร่อยจริงๆ เนื้อแน่นสีขาวนวล รสชาติหวาน ที่สำคัญไม่มีกลิ่นคาว เสิร์ฟพร้อมกับน้ำสมุนไพรดอกอัญชันสีสันสดใส ดื่มแล้วสดชื่น สิ่งที่ประทับใจอย่างหนึ่งคือการต้อนรับของชุมชนแห่งนี้ ที่ได้จัดการแสดงดนตรีพื้นบ้านต้อนรับอย่างอบอุ่น
เมื่อได้อิ่มอร่อยกับมื้อเที่ยงแล้ว เราเดินทางไปต่อกันที่ Check-in จุดที่ 2 ศูนย์ทอผ้าลายโบราณบ้านผาทั่ง ชมมนต์เสน่ห์ของผ้าทอลวดลายสวยงามที่สืบทอดมาจากชาวลาวครั่งและลาวเวียง ชมการสาธิตการทอผ้า การทำผ้ามัดย้อมและร่วมทำผ้ามัดย้อม ชิ้นเดียวในโลกที่จะเป็นของคุณเอง และช้อปผ้าฝ้ายทอลายโบราณ ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยแห้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
การทอผ้าเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านบ้านผาทั่ง จากเดิมเป็นแค่กิจกรรมเล็กๆ ของแม่บ้านที่รวมตัวกันนำ "ผ้าฝ้ายทอมือ" ลวดลายแบบโบราณมาตัดเย็บเป็นชุดสวมใส่ แต่มีฝีมือที่ประณีตจึงทำให้ได้มีการพัฒนารูปแบบที่ทันสมัยทำให้มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้
การรวมตัวกลุ่มทอผ้าบ้านผาทั่งนั้น เริ่มต้นจากนายทองลี้ ภูมิผล ซึ่งเป็นประธานกลุ่มได้คิดรวบรวมกลุ่มสตรีเกษตรกร เพื่อใช้เวลาว่างจากงานหลักที่เก็บเกี่ยวผลผลิตให้เป็นประโยชน์ จึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มสตรีผ้าไหมไทยในโครงการพระราชดำริ ผลิตสิ่งทอโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศและทำออกจำหน่ายในรูปสิ่งทอผ้าไหม เสื้อผ้า งานจักสาน ฯลฯ อันมีเอกลักษณ์สวยงามเฉพาะในแบบของกลุ่มบ้านผาทั่ง
จากการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนสู่ยุคปัจจุบันนี้เอง จึงเกิดเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านใน หมู่บ้านผาทั่ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลป์การทอผ้าโบราณและเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทอผ้าโบราณเพื่อเสริมรายได้ของชาวบ้าน
กระบวนการผลิตนั้น กลุ่มชาวบ้านเริ่มทำตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงการทอผ้า โดยปลูกฝ้าย เมื่อฝ้ายออกดอกก็เก็บมาลิ่วเอาเมล็ดฝ้ายออก นำมาดีดให้ฟูแล้วหล่อให้เป็นหลอดยาวประมาณ 1 ฟุต จากนั้นนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย จากนั้นนำด้ายไปย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงใช้เปลือกไม้ประดู่ สีเหลืองใช้แก่นขนุน สีเขียวใช้ใบสัก หรือใบเตย สีกรมท่า หรือสีดำใช้ต้นคราม จากนั้นนำไปตากให้แห้งเพื่อนำไปทอ และใช้เวลาทอผ้า 4-6 เดือนต่อ 1 ผืน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละลาย ซึ่งลายพญานาคว่ายน้ำถือเป็นลายที่ยากที่สุด
ผลงานของกลุ่มทอผ้าบ้านผาทั่งนั้น ได้ถูกเผยแพร่และยังได้รับความนิยมทั้งกับชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะต่างก็ประทับใจในลวดลายสิ่งทอไทยที่มีความวิจิตรบรรจงสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนถึงความเป็นชนชาติที่มีละเอียดอ่อน
ผลงานที่โดดเด่นคือชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์ ได้รับรางวัลที่ 1 ของยูเนสโก้ เมื่อปี 2004 (พ.ศ.2547) เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ผ่านกรรมวิธีการย้อมสีโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น ลวดลายที่ถักผ้าทอเป็นผืนผ้าแต่ละชิ้นใช้ลายพญานาคลอยน้ำ เพราะคนโบราณนับถือพญานาคกันมาก ประกอบกับชาวบ้านผาทั่งสืบเชื้อสายมาจากลาวเวียงจันทร์ ซึ่งมีความผูกพันและนับถือพญานาคมาก โดยมีรางวัลการันตีคุณภาพงานมาแล้วมากมายอีกด้วย
นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ประดู่ได้สีแดงเข้ม และสีจากดอกดาวเรืองได้สีเหลือง และเมื่อนำสีไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ก็จะได้สีที่ต่างออกไปอีก เช่น สีแดงเข้มจากเปลือกไม่ประดู่เมื่อนำไปผสมกับน้ำปูนใส ก็จะได้สีแดงที่อ่อนลง เป็นต้น
หลังจากเก็บความรู้เรื่องผ้าทอโบราณและละลายทรัพย์กระจายรายได้กันแล้ว เราเดินทางไป Check-in จุดที่ 3 สักการะ “หลวงพ่อโต” วัดผาทั่ง “หลวงพ่อโต” ที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดอุทัยธานีอีกองค์หนึ่ง ซึ่งหลวงพ่อโตองค์ใหญ่นี้มีขนาดหน้าตักกว้าง 23 เมตร สูง 52 เมตร ปางประทานพร สร้างโดยแรงศรัทธาของคณะศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในปี 2532
เวลาหนึ่งวันนั้นแสนสั้นเหลือเกินมองดูเวลา 16.00น. แล้ว คณะได้อิ่มบุญอิ่มใจขอพรและเสี่ยงเซียมซีกันเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางไปยังที่พักบ้านสวนรีสอร์ท อยู่ดีกินดี พักสบาย สไตล์ธรรมชาติ เพลิดเพลินกับดนตรีสด เมื่อถึงที่พักเรียบร้อยเราให้คณะได้พักผ่อนตามอัธยาศัยอาบน้ำแต่งตัวเพื่อมางานปาร์ตี้ในค่ำคืนนี้ด้วยธีมผ้าไทย และสำหรับผู้ที่แต่งตัวได้ถูกใจกรรมการจะได้รับรางวัลอีกด้วย และรางวัลอื่นๆ อีกหลายรางวัล
หลังจากได้พักผ่อนพอหายเหนื่อยแล้วก็ได้เวลาปาร์ตี้กับอาหารค่ำวันนี้ เต็มไปด้วยบรรยากาศสนุกสนานกับดนตรีสดเพราะๆ พร้อมเสียงพูดคุยกันบนโต๊ะอาหารเกี่ยวกับเรื่องที่ได้เรียนรู้กันในวันนี้
ระหว่างนั้นมีการประกวดการแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย และกิจกรรมเล่นเกมอีกมากมาย ได้รับเกียรติจาก คุณภฤศ พุทธนบ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุทัยธานี เป็นผู้มอบรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนจาก ททท. และ บขส. พร้อมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในอุทัยธานีรวมถึงความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ก่อนจะลากันไปพักผ่อน