!-- AdAsia Headcode -->

รู้จักหรือยัง? “แสตมป์มรณะ” สารเสพติดให้โทษออกฤทธิ์หลอนประสาท เสพมากเสี่ยงเกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง

26 พฤศจิกายน 2562, 15:46น.


            ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีคนหัวหมอทำสารเสพติดออกมาในรูปแบบแปลกๆ มากมาย โดยล่าสุดได้มีข่าวเกี่ยวกับสารเสพติดที่ออกมาในรูปแบบ "กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือแสตมป์มรณะ" ทำให้หลายๆ คนกลัวอยู่ไม่น้อยว่าจะตกเป็นเหยื่อของเจ้าสิ่งนี้ได้ แต่ช้าก่อนอย่าเพิ่งตกใจไป!! เพราะทางกรมการแพทย์ได้ออกมาบอกแล้วว่ากระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือแสตมป์มรณะนี้ยังไม่พบว่าเข้ามาในประเทศไทย พร้อมอธิบายเกี่ยวกับแสตมป์มรณะเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกๆ คนได้ทำความรู้จักกับเจ้าสิ่งนี้ให้มากขึ้น

            “แสตมป์มรณะ” คืออะไร


            สำหรับแสตมป์มรณะเป็นการนำเอาสารแอลเอสดี (LSD) ) (ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์หลอนประสาท) มาหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ โดยกระดาษที่ว่าจะแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้ายแสตมป์ มีลวดลาย และสีสันต่างๆ ชวนให้ลองสัมผัส ซึ่งลักษณะการรับเข้าร่างกาย คือ นำมาอมไว้ใต้ลิ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที นาน 8 – 12 ชั่วโมง

            แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง?


            ผลกระทบของการเสพสารแอลเอสดีเข้าสู่ร่างกายในระยะแรกจะทำให้มีความสุข อารมณ์ดี รู้สึกคึกคัก แต่หากรับบ่อยเข้าจะทำให้



            รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูงและอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น



           เหงื่อออก นอนไม่หลับ ปากแห้ง ตัวสั่นและเบื่ออาหาร



            - เกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง เห็นภาพหรือเหตุการณ์ในอดีต



            - เกิดอาการหวาดกลัว บางรายอาจทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้



            ยิ่งใครเสพเกินขนาดยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน นอกจากนี้ หากผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิดและการตัดสินใจ อาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น

            แม้ว่ากระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือแสตมป์มรณะนี้จะยังไม่เข้ามาในประเทศไทยก็ตาม แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ควรเฝ้าระวังและสังเกตพฤติกรรมของลูกหลานด้วย และหากพบว่าลูกหลานมีพฤติกรรมเสี่ยงต้องรีบพูดคุยบอกกล่าวถึงอันตรายและผลกระทบที่จะตามมา ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th



 



Cr. กรมการแพทย์





 



 

X