!-- AdAsia Headcode -->

“คำหยาบคาย” เสี่ยงโดนฟ้อง และโทษทางอาญาความผิดฐานดูหมิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ระวังในคำพูดมากขึ้น

19 กุมภาพันธ์ 2563, 15:33น.


            การทะเลาะวิวาท หรือแสดงความคิดเห็นแล้วมีการด่าทอด้วยคำหยาบคายถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมไทย นอกจากพูดกันลอยๆ แล้ว ก็ยังมีการพิมพ์ด่าประจานกันในโลกโซเชียลด้วย ซึ่งคำที่เราพูด หรือพิมพ์เขียนไว้นั้น ล้วนรุนแรงกระแทกใจคนฟัง คนอ่าน แต่เราก็ยังเฉยเพราะคิดว่าไม่เป็นไร ทั้งที่จริงการด่าทอด้วยคำหยาบโดยเฉพาะในโลกโซเชียลที่สามารถแคปภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานได้ มีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า และในวันนี้สำนักงานกิจการยุติธรรม จะพาทุกๆ คนไปศึกษาโทษตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานดูหมิ่น รวมถึงคำหยาบคายที่เสี่ยงโดนฟ้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและระมัดระวังในคำพูดมากขึ้น

            โทษทางอาญาความผิดฐานดูหมิ่น (ยอมความไม่ได้)


            การดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย ซึ่งการด่าหรือเหยียดหยาม “ต่อหน้า” หรือ “ด้วยการโฆษณา” ต้องรับผิดทางอาญาความผิดฐานดูหมิ่น ซึ่งความผิดฐานดูหมิ่นมีด้วยกัน 4 กรณี ได้แก่



            1. ดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ (ม.136) : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



            2. ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี (ม.198) : จำคุกตั้งแต่ 1 – 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



            3. ดูหมิ่นผู้อื่น “ต่อหน้า” หรือ “ด้วยการโฆษณา” (ม.393) : จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



            4. กระทำการใดๆ ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามศพ : จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            ดูหมิ่นซึ่งหน้า คำด่าเสี่ยงโดนฟ้อง


            คำด่าหยาบคายเพื่อให้ “สะใจคนด่า เจ็บใจคนฟัง” เป็นการทำร้ายกันด้วยคำพูด แบบนี้เรียกว่า “ดูหมิ่นซึ่งหน้า”



            - “อีดอก” : เป็นคำหยาบคายที่สามัญชนฟังแล้วเข้าใจได้ชัดเจนว่าผู้ถูกด่าเป็นผู้หญิงไม่ดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2521)

            - “อีเหี้ย”, “อีสัตว์”, “อีควาย” : เป็นคำหยาบและเปรียบเทียบผู้ถูกด่า เป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2548)



           - “อีตอแหล” : เป็นคำพูดเหยียดหยาม และสบประมาทผู้ถูกด่าว่าเป็นคนพูดเท็จ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552)

            - 
เฮงซวย : เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทว่าเป็นคนเอาแน่นอนไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551)

            - “ผู้หญิงต่ำๆ” :
เป็นคำพูดที่เหยียดหยามว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537)



            - “มารศาสนา”: เป็นคำดูถูกเหยียดหยาม และสบประมาทว่าเป็นคนใจบาปหยาบช้า คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญ และสาธารณชนรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2525)



            - “ไอ้หน้าโง่” : เป็นถ้อยคำแสดงอยู่ในตัวให้เข้าใจได้ชัดเจนถึงการเหยียดหยาม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542)



            - “พระหน้าเปรต พระหน้าผี” : พูดต่อหน้าพระภิกษุที่เป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปเคารพนับถือ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2527)



            - “ไอ้ระยำ” : เป็นคำดูถูกเหยียดหยามและสบประมาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2538)



            - “อีร้อย...” ตามด้วยคำลามก : เป็นคำด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2495)

            การด่าคนอื่นข้างเดียวคนด่าจะผิดคนเดียว ถ้าต่างฝ่ายต่างด่ากันก็จะมีความผิดกันทั้งคู่ ซึ่งหากนำคำเหล่านี้ไปพูดใส่หน้าใครเข้า คนพูดจะมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าทันที อย่าให้อารมณ์มากำหนดคำพูดเป็นการดูถูกและดูหมิ่นผู้อื่นเลย



 



ข้อมูล : สำนักงานกิจการยุติธรรม



 

X