บ่อยครั้งที่เวลาเก็บของหายได้ อาจมีบางคนที่เก็บไว้เฉยๆ กับตัว ไม่รีบนำส่งคืน หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะอาจคิดว่าช่างมัน ไม่เป็นไรหรอก ซึ่งจริงๆ แล้วการกระทำเช่นนี้อาจทำให้มีความผิดตามกฎหมายอาญาได้ กองปราบปรามจึงได้แนะนำขั้นตอนการปฏิบัติหลังเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นที่ทำหล่นหายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 เพื่อให้ทุกๆ คนได้ทำความเข้าใจ และร่วมส่งคืนให้กับเจ้าของ ไม่ทำให้เกิดความผิดตามกฎหมายอาญา
ขั้นตอนตามกฎหมายเมื่อเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้
สำหรับขั้นตอนตามกฎหมายเมื่อเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นที่ทำหล่นหายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 มีดังนี้
1. ส่งมอบคืนเจ้าของ
2. แจ้งเจ้าของโดยเร็ว
3. ส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใน 3 วัน
ทั้งนี้ หากตามหาเจ้าของได้ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลจากเจ้าของได้ ตามกฎหมาย และหากไม่สามารถหาเจ้าของได้ภายใน 1 ปี ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เก็บได้ทันที
แล้วหากไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมายล่ะ?
ในกรณีที่เก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้แต่ไม่ทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย อาจมีความผิดตามกฎหมายอาญา (แล้วแต่กรณี) ได้แก่
1. ลักทรัพย์ของผู้อื่น ตาม มาตรา 334 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท
2. ยักยอกทรัพย์สินหาย ตาม มาตรา 352 วรรค 2 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากวันใดเก็บทรัพย์สินได้ก็หวังว่าทุกๆ คนจะรีบเก็บส่งคืนเจ้าของโดยเร็ว นอกจากจะเป็นการทำความดี ช่วยเหลือเจ้าของทรัพย์สินสร้างความสบายใจแล้ว ยังไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญาให้ปวดหัวอีกด้วย
ข้อมูล : กองปราบปราม