บ่อยครั้งที่เรามักจะพบกับข่าวหรือคลิปวิดีโอเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลเกี่ยวกับการทำร้ายทารุณกรรมสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเองหรือสัตว์ไม่มีเจ้าของ อย่าง สุนัข แมว ฯลฯ มองผิวเผินอาจคิดว่าไม่เป็นไรเพราะนี่มันก็สัตว์ของเรา หรือคิดว่านั่นก็เป็นแค่สัตว์จะเอาอะไรมาก ซึ่งจริงๆ แล้วการกระทำเช่นนี้มีความผิดทางกฎหมายด้วย โดยในวันนี้สำนักงานกิจการยุติธรรมจะมาอธิบายข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ รวมถึงโทษที่จะได้รับ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับทุกๆ คน หยุดทำร้ายทารุณกรรมสัตว์
“ทารุณกรรมสัตว์” การกระทำที่ต้องได้รับโทษ
“สัตว์” ในที่นี้หมายถึง สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สัตว์ไม่มีเจ้าของ สัตว์ตามธรรมาติ หรือสัตว์เลี้ยงของตนเอง อย่าง สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร เลี้ยงเพื่อเป็นยานพาหนะ เลี้ยงดูเล่นในบ้าน ฯลฯ โดยการทารุณกรรมสัตว์มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
- การทำให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดทางกาย จิตใจ ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ชีวิต
- การใช้สัตว์พิการ เจ็บป่วย ชรา หรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อหาผลประโยชน์
- ใช้สัตว์ทำงานเกินสมควร หรือใช้ทำงานอันไม่สมควร
- ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ (ข่มขืนสัตว์)
แล้วแบบไหนถึงไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์?
- การฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร (เฉพาะสัตว์เลี้ยงเป็นอาหาร)
- การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรม และการต่อสู้ตามประเพณีท้องถิ่น
- การฆ่าโดยสัตวแพทย์เห็นว่าป่วย และไม่สามารถรักษาให้อยู่รอดต่อได้
- การฆ่าสัตว์กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ร่างกายมนุษย์
- การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาด
- การตัดหู หาง ขน เขา งา เพื่อการรักษาและไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์
สำหรับการทารุณกรรมสัตว์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีหัวใจ มีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา ซึ่งทุกๆ ชีวิตมีความสำคัญและควรได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม
ข้อมูล : สำนักงานกิจการยุติธรรม