ขสมก.หวังรถเมล์เช่าEV ใหม่ 2,511 คัน ถูกใจคนกรุง หลังกำหนดกรอบใส่เทคโนโลยี GPS,ไวไฟ, ป้ายดิจิตอล เครื่องกรองอากาศในตัวรถเพียบ ขณะที่แผนฟื้นฟู คาดต้องไปเข้า ครม. หลังกลางเดือน ส.ค. 63 เพื่อรอ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ช่วยพิจารณา
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือ ขสมก.เปิดเผยว่า สำหรับโครงการจัดเช่ารถเมล์พลังงานไฟฟ้า จำนวน 2,511 คัน นอกจากการกำหนดอัตราค่าโดยสารตั๋ววัน 30 บาทแล้ว ล่าสุด ขสมก.ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นตัวกำหนดรูปแบบการให้บริการ เพื่อให้ผู้จัดหารถตามโครงการ ต้องดำเนินการตามกรอบ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารครบถ้วน นอกจากการให้รถทุกคันเป็นรถชานต่ำ (Low Floor Bus) เพื่อให้ผู้พิการทุกคน ขึ้นลงรถได้สะดวก ยังมีการติดตั้งระบบ GPS บนรถทุกคันเพื่อให้ติดตามการใช้ความเร็วของคนขับเพื่อดูแลความปลอดภัย,การติดตั้งป้ายดิจิตอล บอกเส้นทางและป้ายรถเมล์ต่อไป หน้ารถ และภายในตัวรถ , บริการ WiFi บนรถ รวมถึงระบบกรองอากาศภายในรถ เพื่อดูแลสุขภาพผู้โดยสาร ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกำหนดเป็นสเปค ที่ ขสมก.จะดำเนินการจัดเช่าตามกิโลเมตรอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่จะมีการนำแผนฟื้นฟูซึ่งรวมถึงการจัดหารถเมล์ EV จำนวน 2,511 คันไว้ด้วยนั้น เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ได้เมื่อใด แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า น่าจะเป็นหลังกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งเดิมทีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ต้องการนำเสนอแผนทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในต้นเดือนสิงหาคมนี้ แต่ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งแนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ได้มีส่วนร่วมพิจารณาเห็นชอบด้วย
เนื่องจากตามแผนจะต้องมีการ ขออนุมัติกรอบวงเงินทยอยล้างหนี้กว่า 1 แสนล้านบาทให้ขสมก.ใน 3 ปี ซึ่งการนำแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. เข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นสำคัญ คือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ขสมก.โดยตรง คือเรื่องการแก้ไขปัญหาทางการเงินและจัดองค์กร ให้มีความพร้อมตามแผนฟื้นฟูใหม่

ในส่วนที่ 2 จะเป็นอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายจัดเก็บค่าโดยสาร แบบตั๋ววัน 30 บาท ที่ต้องให้กระทรวงการคลังเห็นชอบด้วยเนื่องจากเป็นการจัดเก็บรายได้ของรัฐวิสาหกิจเข้ารัฐ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ที่มีกรมการขนส่งทางบกเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งทุกหน่วยงานจะดำเนินการรับลูกต่อ หลังครม.ผ่านความเห็นชอบแล้ว