เห็บกัดคน! มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง “อัมพาต – ระบบหายใจล้มเหลว” อันตรายถึงชีวิต แนะนำคีบออกจากผิวหนังโดยเร็ว

02 กันยายน 2563, 15:19น.


            ไหนขอเสียงคนเลี้ยงสุนัข หรือแมวหน่อยเร็ว.. เชื่อเลยว่าหลาย ๆ บ้านที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้คงหนีไม่พ้นกับปัญหาเห็บตัวน้อยตัวใหญ่เกาะดูดเลือดบริเวณผิวหนังของพวกเขา วันดีคืนดีเห็บตัวร้ายก็ออกมาเดินตามพื้นบ้านบ้าง หรือบางคนเจอเกาะอยู่บนแขน บนขาตนเองเลยก็มี แน่นอนว่าเห็บสามารถกัดคนได้ ทั้งยังเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อหลายชนิดอีก ด้วยความห่วงใยจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง จึงได้ออกมาเตือนถึงความอันตรายเมื่อถูกเห็บกัด พร้อมแนะนำวิธีป้องกันและการปฏิบัติตนให้ถูกวิธี

            “เห็บกัดคน
มีอันตรายถึงชีวิตได้

            ต้องบอกก่อนว่าเห็บมักอาศัยอยู่บริเวณต้นหญ้าสูงๆ หรือเกาะอยู่กับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น ซึ่งสัตว์เหล่านี้มีความใกล้ชิดกับคน ดังนั้น คนอย่างเรา ๆ จึงมีโอกาสถูกเห็บกัดได้ ซึ่งผู้ที่ถูกเห็บกัดมักไม่มีอาการเจ็บ เนื่องจากในน้ำลายของเห็บประกอบด้วยสารที่ทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ทำให้ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองถูกกัด ในส่วนของผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดก็จะเป็นตุ่มนูนบวมแดง บางคนที่เกิดอาการแพ้จะพบว่ามีไข้ หรือผื่นคันชนิดลมพิษ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการที่เกิดจากเห็บกัดมักเป็นเพียงอาการเฉพาะที่

            แต่ทั้งนี้ ยังมีผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังถูกเห็บบางชนิดกัด (ส่วนน้อย) คือ เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นในระยะเวลาไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลว อันตรายถึงชีวิตได้
โดยอาการเป็นอัมพาตจากการถูกเห็บกัด มักเกิดภายในระยะเวลา 4-6 วันหลังโดนกัดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ภาวะนี้จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อคีบเอาเห็บออกจากผิวหนังของผู้ป่วย

            วิธีการนำเห็บออกจากผิวหนัง


            สำหรับการนำเห็บออกจากผิวหนังนั้นทำได้ด้วยการใช้แหนบคีบออกเลือกที่ส่วนหัวของเห็บแล้วค่อยดึงขึ้นตรงๆ อย่างนุ่มนวล แต่ต้องระวังอย่าคีบบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ และไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบเพราะส่วนปากของเห็บจะยังคงค้างอยู่ในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่เรื้อรังตามมาได้ 



            วิธีการรักษานั้นหลังจากเอาตัวเห็บออกไปได้แล้วสามารถทายาลดการอักเสบของผิวหนังที่บวมแดงได้ ส่วนใครที่บวมมากๆ ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ฉีดยาใต้ผิวหนังลดอาการบวม

 



ข้อมูล : กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง



 





 



 

X