บ่อยครั้งที่เวลาเราถ่ายไม่ออกย่อมทำให้อึดอัด หงุดหงิดรำคาญใจจึงมักจะเลือกใช้ยาระบายเพื่อช่วยปลดปล่อยสิ่งที่ค้างคา แต่ทว่าการใช้ยาระบายบ่อยๆ อาจส่งผลต่อลำไส้ได้! ด้วยความห่วงใยจากภญ.กรองทอง พุฒิโภคิน เภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับการใช้ยาระบายบ่อยๆ อาจส่งผลต่อลำไส้ให้เกิดภาวะขี้เกียจ รวมถึงแนะนำประเภทของยาระบายทั้ง 6 กลุ่ม เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น
ใช้ยาระบายบ่อยเสี่ยงลำไส้ขี้เกียจ
“ยาระบาย” โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำให้ใช้เมื่อมีอาการ ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำหรือติดต่อทุกวัน โดยเฉพาะยาระบายในกลุ่มกระตุ้น ยิ่งใช้ไปนานๆ ต่อเนื่องจะส่งผลให้ลำไส้ขี้เกียจ เสมือนลำไส้ติดยาไปแล้วทำให้ต้องเพิ่มยาเรื่อยๆ พอเพิ่มยาไปเรื่อยๆ สุดท้ายลำไส้ขี้เกียจเราต้องกินยาระบายเพื่อให้อุจจาระแต่อุจจาระนั้นจะกลายเป็นท้องผูกได้
ยาถ่ายมีแบบไหนบ้าง?
หากลองแบ่งตามรูปแบบการใช้งานก็จะมีภายนอก ได้แก่ สวนทวาร เหน็บทวาร แต่หากเป็นการรับประทานก็จะแบ่งเป็นตามการออกฤทธิ์ของยา มีทั้งหมด 6 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มไฟเบอร์ (เพิ่มกากใย) เป็นกลุ่มที่ดูดน้ำเข้ามาในลำไส้จึงทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม แต่จะต้องบอกว่าถ้าคิดจะกินยากลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำเยอะขึ้นเนื่องจากต้องอาศัยในการดูดน้ำเพิ่มมากขึ้นนั่นเองจึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อการขาดน้ำอยู่แล้ว รวมถึงการกินยาประเภทอื่นร่วมด้วย เพราะจะดูดซึมยานั้น ๆ ไปได้จึงควรกินยาอื่นห่างออกไปอีก 2 ชม.
2. กลุ่มกระตุ้น ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องนานนักเพราะจะทำให้ลำไส้ขี้เกียจ ควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
3. กลุ่มที่ดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ (ออสโมติค เช่น โพลิเอทิลีนไกลคอล) ช่วยให้ลำไส้บิดตัวได้ดี ข้อดีคือไม่รู้ว่าท้องผูกเกิดจากสาเหตุอะไร เราสามารถให้ได้เพราะว่ามันปลอดภัยที่สุด
4. กลุ่มเกลือที่ใช้ดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ เกลือที่ว่าจะเสมือนฟองน้ำคอยดูดน้ำเข้าลำไส้ทำให้อุจจาระไม่แข็ง และค่อยๆ ขยับลงด้านล่าง กลุ่มนี้ดีเช่นกันถ้าคิดว่าท้องผูกเป็นพักๆ สามารถกินตัวนี้ได้ไม่มีปัญหา
5. กลุ่มด็อกคูเสท เป็นกลุ่มที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มออกง่าย ไม่ต้องเบ่งให้ลำบาก เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดเสร็จใหม่ๆ หรือผู้ป่วยที่ต้องการการละเอียดอ่อนในลำไส้
6. กลุ่มล่อลื่น (มินอรอลออยล์) ข้อเสียทำให้สำลักง่าย ไม่ควรให้ผู้สูงอายุหรือสตรีมีครรภ์กิน ทั้งยังทำให้ขาดวิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเคด้วย เนื่องจากน้ำมันละลายได้ดีในวิตามิน
พฤติกรรมกรรมเสี่ยงท้องผูก ถ่ายไม่ออกนั้นส่วนใหญ่มากจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย รวมถึงกินอาหารที่ย่อยยากชอบกลั้นอุจจาระที่พอเวลาจะกลับมาถ่ายก็ไม่ได้ปวดท้องอะไรแล้ว และการออกกำลังกายที่น้อยลงทำให้ลำไส้ขับเคลื่อนได้น้อยลง นอกจากนี้ การกินยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงนอน ยาลดความดัน ยากันชัก ยาต้านชึมเศร้า เป็นต้น ก็ด้วยเช่นกัน แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที อาทิตย์ 3 – 4 วัน ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือกินผักผลไม้ที่มีกากใยช่วยได้
ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel