น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงเร็วกว่าปกติ ใครที่เป็นอยู่อย่าวางใจยินดีกับสิ่งที่เป็นอยู่คิดว่าทำให้ดูอ้วนขึ้น ทำให้ดูผอมลงตามใจปราถนา เพราะนั่นถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายที่ร่างกายกำลังบอกอะไรบางอย่างกับเราอยู่น่ะซิ ว่าแต่น้ำหนักเปลี่ยนมากแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ? แล้วสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลดลงล่ะมีอะไรบ้าง? เรื่องนี้ อ. นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้อธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้นกันดีกว่า
น้ำหนักเปลี่ยนมากแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ?
จริง ๆ แล้วน้ำหนักเปลี่ยนมากแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติจะดูในระยะยาวประมาณช่วง 6 เดือน เพราะหากดูเพียงสั้น ๆ เราอาจจะกินบุฟเฟ่ห์ 2 – 3 วันติดกันก็อาจจะขึ้นเยอะได้นั่นเอง ซึ่งน้ำหนักจะเพิ่มหรือลดลงในช่วง 6 เดือนมากกว่า 5 – 10% โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเพิ่มหรือลดน้ำหนักเลย เช่น สมมุติน้ำหนักเรา 60 กก. ภายใน 6 เดือนน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไป คือ เพิ่มขึ้น 63 – 67 กก. หรือลดลงเหลือ 53 – 57 กก. ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่เยอะเท่าไร แต่ในคำจำกัดความทางการแพทย์ถึงน้ำหนักที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญแบบนี้อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เสี่ยงเกิดโรคอันตรายต่าง ๆ ได้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด
สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลดลงได้
- พฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายที่เมื่อกินเยอะออกกำลังกายเยอะทำให้น้ำหนักลดลง หรือกินเยอะแต่ออกกำลังกายน้อยทำให้น้ำหนักขึ้นแบบนี้เรียกสมเหตุสมผล
- ความเครียด ที่อาจทำให้น้ำหนักลด หรือบางคนเครียดแล้วกินเพิ่มขึ้นก็จะทำให้น้ำหนักขึ้นได้
- ยาที่กิน เช่น หลายคนที่มีความเครียดด้วยบวกกับกินยาซึมเศร้า หรือยาทางจิตเวชด้วยก็จะมีผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เช่นกัน
- ความเจ็บป่วย เช่น ภาวะบวมน้ำจากโรคหัวใจ โรคไต โรคไทรอยด์ โรคมะเร็ง วัณโรคต่าง ๆ โรคเอดส์ ฯลฯ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วใครที่มีความผิดปกติในเรื่องของน้ำหนักที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน ทางที่ดีอย่าวางใจปล่อยไว้เลย รีบเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คหากพบเจอโรคใดก็ตามจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที
ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel