!-- AdAsia Headcode -->

งูขึ้นมาจากโถส้วมได้อย่างไร วิธีการป้องกันงูในโถส้วม

22 ตุลาคม 2563, 15:15น.


            เรามักจะพบกับข่าวงูโผล่ในโถส้วม หรือชักโครกอยู่บ่อยครั้ง จนบางคนเกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมาเหมือนกัน ไม่รู้ว่านั่งๆ อยู่แล้วงูจะขึ้นมาฉกหรือเปล่า ซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่าหลายคนอาจเกิดความสงสัยอยากรู้ว่างูขึ้นมาจากโถส้วมได้อย่างไร แล้วพอจะมีวิธีใดบ้างช่วยป้องกันงูในโถส้วม ด้วยความห่วงใยจาก รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกมาอธิบายทุกข้อสงสัย พร้อมแนะนำวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อถูกงูกัดที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจ

            งูขึ้นมาจากโถส้วมได้อย่างไร?


            งูนั้นเลื่อยมาทางท่อระบายน้ำจากโถส้วม ไม่ว่าจะส้วมนั่งยอง หรือชักโครก ผ่านช่องระบายอากาศ ผ่านถังของส้วมซึม ซึ่งถังอาจแตกหรือขยายใหญ่ทำให้งูผ่านไปได้ หรือกรณีมีงูเข้ามาภายในบ้าน ห้องน้ำชั้นล่างก็จะถือว่าเสี่ยงเป็นที่ซุกอยู่อาศัยที่สุด

            งูอยู่ในน้ำได้อย่างไร?

            งูจะมีปอดการอยู่ในน้ำจะใช้วิธีกลั้นหายใจไว้ระยะหนึ่ง ฉะนั้นการที่มุดไปตามท่อ ตามคูระบายน้ำ ตามถังส้วมซึมจึงไม่เป็นปัญหาอะไร อีกอย่างคืองูไม่มีหูที่จะได้ยินเสียงใดโดยตรงจึงใช้การรับสัมผัสจากการดมกลิ่นด้วยการแลบลิ้น หรือผ่านคลื่นการสั่นสะเทือนบนพื้น หรือกรณีของการมองเห็นก็อาจจะไม่ได้ชัดเจนมากแต่สัมผัสได้จากการเคลื่อนไหว งูบางชนิดสามารถจับคลื่นความร้อนได้ ส่วนงูหลามที่พุ่งขึ้นมาจากโถส้วมฉกเราในที่สุดก็จะใช้จากการเคลื่อนไหวของตัวเรานั่นเอง

       
    การป้องกันจากงูในโถส้วม

            - อย่าทำให้บ้านเป็นจุดดึงดูดของงู เช่น ไม่ปล่อยให้บ้านให้รก หมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะไม่อย่างนั้นอาจเป็นที่ดึงดูดของหนูบ้านเป็นเหตุให้งูตามหนูมาเพื่อจับกินเป็นอาหาร เมื่อไม่มีหนูก็ไม่มีอาหาร ไม่มีอาหารงูก็ไม่รู้จะเข้ามาในบ้านทำไม



            - บ้านใดอยู่ติดกับบริเวณทุ่งหญ้า ป่ารกทึบ หรือมีสนามหญ้า มีพงหญ้าก็ควรจะถางหรือตัดหญ้าที่รกนั้นทิ้ง ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยเข้าไว้



            - จัดการปิดช่อง ปิดรูที่จะเป็นช่องทางนำพาให้งูเลื่อยเข้ามาได้



            - ก่อนนั่งชักโครก หรือนั่งส้วมให้กดชักโครก หรือราดน้ำแรงๆ ก่อนนั่งลงไป เพื่อไล่สัตว์เหล่านี้ไป

               ความเชื่อผิดๆ เมื่อถูกงูกัด

            แต่ก่อนเราเชื่อว่าการขันชะเนาะจะช่วยไม่ให้พิษงูกระจายไป แต่ในความเป็นจริงการขันชะเนาะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาของการขาดเลือดหรือเนื้อตายตามมา ปัจจุบันจึงเน้นให้ผู้ที่ถูกงูกัดอยู่นิ่งที่สุด ขยับน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระตุ้นทำให้เลือดไหลเวียนเร็วและพาพิษไป ดังนั้น วิธีการปฐมพยายาลเมื่อถูกงูกัดจึงควรเข้าเฝือกคล้ายกระดูกหัก เช่น หาอะไรมาดาม แล้วใช้ผ้าพันให้กระชับ อย่าเคลื่อนไหวมาก และรีบนำส่งโรงพยาบาล กรณีที่ไม่ใช่งูมีพิษต้องเอางูออกจากเราให้ได้ แต่ไม่แนะนำให้กระชากออก เพราะการกระชากจะยิ่งทำให้แผลเหวอะหวะ โดยวิธีที่ดีที่สุดให้หาอะไรมาง้างปากออก

            
โดยปกติแล้วงูไม่กล้าจะสู้กับคนเท่าไรนัก เมื่อเจอคนก็มักจะหลบหนีจึงไม่จำเป็นต้องไปตีหรือทำร้ายถึงชีวิต ดังนั้น เมื่อเจองูจริงๆ แล้วไม่เพียงแต่ที่โถส้วม หรือชักโครกเท่านั้น ควรโทรเรียกเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่มีความชำนาญในการจับมาช่วยจับไป ปลอดภัยทั้งเราและงู



 



ข้อมูล : Mahidol Channel



 

X