ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตือนอย่าแชร์! 'สบู่แดงรักษาโรคมะเร็ง และแผลติดเชื้อเรื้อรัง' เป็นข้อมูลเท็จ

14 พฤศจิกายน 2563, 08:00น.


          ตามที่มีการแชร์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สบู่แดงแก้มะเร็ง และแผลติดเชื้อเรื้อรัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

          กรณีคลิปวิดีโอที่มีการให้ข้อมูลของสมุนไพรสบู่แดง ว่าสามารถนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง และแผลติดเชื้อเรื้อรังให้หายได้ โดยทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่าสบู่แดงสามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ แม้จะมีการพบสารประกอบสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอยู่ในกลุ่มอัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ ฟีโนลิก ซาโปนิน และเทอร์พีนอยด์ ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะนำมารักษามะเร็งในมนุษย์ได้





           ซึ่งสบู่แดง (Jatropha gossypifolia L.) หรือละหุ่งแดง บางพื้นที่เรียกว่าสบู่เลือด (อาจจะทำให้สับสนกับพืชอีกชนิดหนึ่ง คือ Stephania pierrei Diels ซึ่งถูกเรียกเป็นชื่อภาษาไทยว่าสบู่เลือดเช่นกัน) สบู่แดงเป็นไม้พุ่ม ใบอ่อนมีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลแดง มักมีการนำใบ ลำต้น ราก และเมล็ด มาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาพื้นบ้าน แต่การนำพืชสมุนไพรมาใช้เพื่อหวังผลทางการรักษา โดยไม่ทราบรายละเอียดด้านสรรพคุณ ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้อง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาที่เหมาะสม ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยมะเร็งควรปรึกษาและขอคำแนะจากแพทย์

          ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800

X