ปัจจุบันกิจกรรมการวิ่ง ไม่ว่าจะแข่งขันหรือการกุศลถือว่าได้รับความนิยมมีผู้สนใจเข้าร่วมกันเป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นหากร่างกายไม่พร้อมอาจเกิดผลกระทบต่อร่างกายอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลย ด้วยความห่วงใยจากกรมอนามัยจึงได้ออกมาแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะมือใหม่หัดวิ่ง รวมถึงมาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดความเสี่ยงร่างกายได้รับผลกระทบ
“การวิ่ง” กิจกรรมที่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนลงสนาม
“การวิ่ง” เป็นหนึ่งในรูปแบบการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งนักวิ่งจำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง ผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ร่างกายมีการปรับตัวให้พร้อมกับกิจกรรมทางกายที่มีระยะเวลานาน หากร่างกายไม่พร้อมจะทำให้เกิด ผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ รวมทั้งระบบกล้ามเนื้อ โดยจะมีอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและกำลังจะเริ่มหัดวิ่งควรตรวจเช็คสุขภาพร่างกายก่อนวิ่งเพื่อหาภาวะเสี่ยงที่อาจส่งผลขณะวิ่งได้
โดยในการวิ่งแต่ละครั้ง นักวิ่งควรมีการอบอุ่นร่างกายเพื่อให้เลือดสูบฉีดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย และก่อนหยุดออกกำลังกายให้ชะลอความเร็วโดยการคลายอุ่น (cool down) ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง เพื่อลดอาการปวดเมื่อยและบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
มาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน
ในส่วนของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF) ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน โดยเน้นที่การออกแบบการแข่งขัน ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย จัดให้มีน้ำดื่มและอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
สำหรับการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนนั้นจะต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาลประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดพยาบาลตลอดเส้นทางโดยเฉพาะช่วงกลางและปลายของการวิ่งซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ และเมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือและปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที เช่น การปั๊มหัวใจด้วยวิธีซีพีอาร์ (CPR) เป็นต้น โดยกำหนดให้มีหน่วยแพทย์ในการแข่งเพื่อให้ได้มาตรฐานการจัดกิจกรรม
ข้อแนะนำสำหรับนักวิ่งที่ลงแข่งขัน
1. เตรียมตัวก่อนถึงวันวิ่ง ด้วยการออกกำลังกาย หรือซ้อมมาก่อน
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้ร่างกายพร้อม เนื่องการจัดวิ่งมาราธอนส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า ไม่กินอาหารมื้อดึก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำให้เพียงพอ
3. สังเกตร่างกายตนเองว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ความเหนื่อย ความอ่อนล้า หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ซึ่งหากไม่มั่นใจให้รีบขอความช่วยเหลือยังจุดปฐมพยาบาลทันที
รู้ไว้ใช่ว่า! มือใหม่หัดวิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นหรือมือใหม่
และสำหรับใครที่เป็นมือใหม่หัดวิ่ง ผู้เพิ่งเริ่มต้นวิ่ง กรมอนามัยก็มีเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้อง ได้แก่
1. ให้ผู้วิ่งเริ่มเคลื่อนไหวออกกำลังกาย เบาๆ ช้าๆ
2. ใช้เวลาเป็นหลักก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มเวลา
3. เมื่อปรับตัวได้แล้วให้เพิ่มความหนัก
4. จากนั้นก็เพิ่มความเร็วและเวลาจนถึงเป้าหมาย
5. กรณีมีโรคประจำตัว ควรพกยา หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ถึงความพร้อมของร่างกาย
ทั้งนี้ หากมีอาการใจเต้นเร็วผิดปกติ รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่วถึง เวียนศีรษะ คลื่นไส้รวมถึงหน้ามืดให้หยุดวิ่งทันที เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย
ข้อมูล : กรมอนามัย