องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ ออกคำเตือนกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+)ว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีกจะเพิ่มแรงกดดันต่อผู้บริโภค ซ้ำเติมปัญหาการขาดดุลน้ำมัน และคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ
ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน (2566) ผู้ผลิตบางรายในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 23 ประเทศ ได้ประกาศควบคุมเพิ่มเติมโดยสมัครใจที่ 1,160,000 บาร์เรลต่อวันเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปี 2566 โดยรวมแล้วซาอุดีอาระเบีย, อิรัก และกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียจะลดปริมาณผลิตน้ำมันลงวันละ 1,000,000 บาร์เรล ส่วนรัสเซียจะผลิตน้ำมันที่ 500,000 บาร์เรลต่อวันต่อไปจนถึงสิ้นปี
ในรายงานการตลาดน้ำมันฉบับล่าสุด ไออีเอ ระบุว่า ตลาดน้ำมันและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มตึงตัว และจะมีการปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย อธิบายการปรับลดการผลิตครั้งใหม่ว่าเป็นมาตรการที่สนับสนุนให้ตลาดน้ำมันมีเสถียรภาพ ในช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูงจากวิกฤตการธนาคารในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยทั่วไป และการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
ก่อนที่จะมีการประกาศการปรับลดราคาน้ำมันลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน แต่การตัดสินใจของโอเปกพลัส ผลักดันให้สูงขึ้น เมื่อวันศุกร์ (14 เม.ย.66) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ซื้อขายที่ 86.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่เวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 82.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกหลัก 13 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 ในลักษณะพันธมิตรทางการค้าเพื่อกำหนดและบริหารอุปทานน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการควบคุมราคาน้ำมัน มีการผลิตน้ำมันร้อยละ 30 ของน้ำมันดิบทั้งหมดในโลก โดยในปี 2559 ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลง กลุ่มโอเปกจึงมีการรวมกลุ่มกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอีก 10 ประเทศ กลายเป็นกลุ่มโอเปกพลัส มีการผลิตน้ำมันประมาณ ครึ่งหนึ่งของน้ำมันดิบในโลก
…
#โอเปกพลัส
#น้ำมันดิบ
#ไออีเอ
#องค์การพลังงานระหว่างประเทศ