การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย (สะพานข้ามเกาะสมุย) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางสู่เกาะสมุยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะสมุย และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
โดย กทพ. ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อนำเสนอข้อมูลของโครงการ แนวเส้นทางเลือก และแผนดำเนินงาน ให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเกาะสมุย ได้ร่วมรับรู้ข้อมูลของโครงการตั้งแต่ต้น และได้ร่วมแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ
วันนี้ (8 ส.ค.66) เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด มาเป็นประธานการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมครอบคลุมทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคมต่างๆ
ความจำเป็นของโครงการนี้ เนื่องจากเกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” แต่การเดินทางมายังเกาะสมุย ทั้งทางน้ำและอากาศ ยังมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ทำให้นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป ไม่ได้รับความสะดวกสบาย และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุย มายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงหน้ามรสุม ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ดังนั้น หากมีถนนทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น
กทพ.ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัท เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการเป็นเวลา 720 วัน หรือ 24 เดือน เมื่อแล้วเสร็จ ก็เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575
สำหรับรายละเอียดโครงการ เบื้องต้น จุดเริ่มต้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ มี 3 แห่ง คือ แห่งที่ 1 บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี , แห่งที่ 2 บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 3 แห่ง คือ แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา , แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด
ซึ่งแนวเส้นทางเลือก มีความเป็นไปจำนวน 7 แนวทางเลือก โดยจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุน , การศึกษาสภาพธรณีวิทยา , การสำรวจด้านสมุทรศาสตร์และชายฝั่ง เพื่อให้โครงการมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย , การศึกษาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ป่าชายเลน แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ที่อยู่อาศัยของโลมา รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยจากหน่วยงานและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกแนวเส้นทาง และนำเสนอแนวเส้นทางที่เลือกในการประชุมใหญ่ครั้งต่อไป
สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 หรือ ปฐมนิเทศโครงการ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (9 ส.ค.) และที่เกาะสมุยในวันที่ 10 ส.ค.66 โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ได้ที่เว็บไซต์ “www.samuibridge.com” หรือเฟซบุ๊ก “โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย” และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์กลุ่ม “Samui bridge”
#การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
#โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย