เพจดาราภาพยนตร์ รายงานว่า นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการเพลงลูกกรุง และวงการบันเทิง ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อคืนวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 02.23 น. ด้วยโรคชรา หลังเข้ารับการรักษามานานหลายเดือน ที่โรงพยาบาลตำรวจ สิริอายุ 91 ปี
ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) เดิมชื่อ บุญมัย งามเมือง ชื่อเล่น ฉึ่ง เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2576 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายบุญเกิด และนางจันทร์ดี งามเมือง เมื่อเยาว์วัยเป็นเด็กขี้โรค แม่จึงนำไปยกให้พระตามความเชื่อในขณะนั้น เจ้าอาวาสวัดท่าสะต๋อย ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น "ชรินทร์"
สมรสกับ สปัน เธียรประสิทธิ เมื่อปี พ.ศ. 2500 มีบุตรสาว 2 คน คือ ปัญญชลี เพ็ญชาติ และปัญชนิตย์ นันทนาคร ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้ 5 ปี เลิกรากัน และสมรสกับเพชรา เชาวราษฎร์ ในปี พ.ศ. 2512 จนปัจจุบัน
จบการศึกษาวิชาชีพที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คอมเมิร์ส ระหว่างเรียนหนังสือที่อัสสัมชัญ เป็นนักกีฬาฟุตบอลและนักรักบี้ของโรงเรียน แต่ประสบอุบัติเหตุ สะบ้าเข่าแตกต้องเลิกเล่นกีฬาทุกชนิด
ระหว่างเรียนอยู่อัสสัมชัญ คอมเมิร์ส ได้พบกับนายไศล ไกรเลิศ ครูเพลงไทยสากลคนสำคัญในยุคนั้น จึงชักชวนให้ไปเรียนร้องเพลงจนได้ร้องบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกของนายไศล ไกรเลิศ คือ เพลง "ดวงใจในฝัน"
เริ่มมีชื่อเสียงและมีโอกาสร้องเพลงของนักแต่งเพลงคนอื่นๆ เช่น นายสมาน กาญจนะผลิน โดยเฉพาะเพลงแบบสังคีตประยุกต์ ที่ใช้ดนตรีไทยเดิมบรรเลงร่วมกับดนตรีสากลเป็นครั้งแรก เช่น เพลงนกเขาคูรัก สัญญารัก ง้อรัก และเชื่อรัก เป็นต้น
ต่อมาปี พ.ศ. 2500 บริษัทดาราไทยฟิล์มเลือกให้แสดงภาพยนตร์ เป็นพระเอกคู่กับทรงศรี เทวคุปต์ เรื่อง สาวน้อย
และปี พ.ศ. 2501 เข้าทำงานประจำเป็นเลขานุการผู้ตรวจการภาคตะวันออกไกลขององค์การยูซ่อมเกือบ 10 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลายังคงมีผลงานเพลงออกมาสม่ำเสมอ เช่น เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอมหยาดเพชร, ผู้ชนะสืบทิศ, ข้าวประดับดิน และอาลัยรัก เป็นต้น
ชรินทร์ มีความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงได้ลาออกจากองค์การยูซ่อม มาสร้างภาพยนตร์ของตนเอง โดยภาพยนตร์ทุกเรื่อง ที่สร้างจะเน้นให้คนไทยรักชาติรักแผ่นดิน & จะต้องมีทิวทัศน์ที่สวยงามตามภาค ต่าง ๆ ของประเทศไทย เป็นฉากประกอบเพื่อเผยแพร่ให้คนได้รู้จัก และจะต้องมีเพลงที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ ประกอบในภาพยนตร์ทุกเรื่อง เช่น เรื่องเทพบุตรนักเลง (เพลงป่าลั่น) เรื่องแมวไทย (เพลงมนต์รักดอกคำใต้) เรื่องลูกเจ้าพระยา (เพลงลูกเจ้าพระยา) และบางเรื่องจะเน้น ด้านการรักษาความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ เช่น เรื่องเพลงรักดอกไม้บาน ,รักข้ามคลอง, ผู้การเรือเร่, ฟ้าสีทอง และบ้านน้อยกลางดง เป็นต้น
ปี พ.ศ.2509 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้อัญเชิญบทเพลงพระราช-นิพนธ์ "ลมหนาว" เป็นเพลงเอกของภาพยนตร์ เรื่องลมหนาว และได้เปลี่ยนแปลงความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์สารคดีเทิดพระเกียรติมาเป็นสร้างบทเพลงเทิดพระเกียรติ "สดุดีมหาราชา" ไว้ในภาพยนตร์เรื่อง "ลมหนาว" และได้กลายเป็นเพลงของประชาชนทั้งประเทศตั้งแต่นั้นมา
ปี พ.ศ. 2510 ชรินทร์ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้านคอมพิวเตอร์และการบริหารระหว่างประเทศ เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทยได้แต่งงานกับเพชรา เชาวราษฎร์ ในปีพ.ศ. 2512
หลังจากปี พ.ศ. 2514 ได้พักการร้องเพลง โดยหันไปสร้างและกำกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องแผ่นดินแม่ ได้สร้างในระบบ 70 ม.ม. เป็นเรื่องแรกของประเทศไทย
ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2508 นายชรินทร์ ได้สร้างและกำกับภาพยนตร์มาทั้งหมด รวม 19 เรื่อง กระทั่งปี พ.ศ.2531 จึงได้พักงานสร้างภาพยนตร์ หันมาทุ่มเทให้กับผลงานเพลงอย่างจริงจัง อาทิ ชุด "อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล"หมายเลข 1-3 ชุด "ชรินทร์ นันทนาคร" กับบทเพลงเหนือกาลเวลา"สุนทราภรณ์"
โดยเฉพาะชุด "การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต" ได้ทุ่มเทสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจที่จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพให้กับวงการเพลงไทยสากลโดยใช้เครื่องดนตรีของแท้ บรรเลงแบบออเครสต้า ผสมเครื่องดนตรีพื้นบ้านจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้
ผลงานสำคัญ นายชรินทร์ สร้างสรรค์ผลงานเพลงเป็นอมตะไว้เป็นจำนวนมาก เป็น นักร้องเพลงไทยสากลที่มีเอกลักษณ์การขับร้องเพลงเป็นของตนเอง ในแบบฉบับของเพลงไทยเดิมผสมผสานกับเพลงไทยสากลที่มีท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อน ด้วยน้ำเสียงที่พลิ้ว มีเสน่ห์ชวนฟัง
ผลงานเพลงสำคัญๆ ของชรินทร์ มีเป็นจำนวนมาก อาทิ นกเขาดู่รัก, ง้อรัก, เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอม, หยาดเพชร, ผู้ชนะสิบทิศ, ข้าวประดับดิน,ทาสเทวี และอาลัยรัก ฯลฯ เพลงเหล่านี้ คือ บทเพลงอมตะที่ยังอยู่ในหัวใจของ นักฟังเพลงมาจนปัจจุบัน
เกียรติคุณที่เคยได้รับ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามสกุลให้ว่า นันทนาคร จึงใช้ชื่อ ชรินทร์ นันทนาคร ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2503 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลงอาลัยรัก ปี พ.ศ. 2519 ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากเรื่อง แผ่นดินแม่ ในงานมหกรรมภาพยนตร์แห่งเอเชีย ที่เมือง ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
ปี พ.ศ. 2527 ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ สังข์เงิน สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นผู้ริเริ่มและร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา