ไอกรน! ป้องกันได้ นพ.ยง ชี้ พบติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ วัคซีนป้องกันได้

14 พฤศจิกายน 2567, 11:51น.


          หลังพบการระบาดของโรคไอกรน ในโรงเรียนย่านปทุมวัน ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และสำนักงานเขตปทุมวัน ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรค เบื้องต้นพบว่า ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่เป็นเพื่อนในโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และกลุ่มที่มีกิจกรรมร่วมกัน มีอาการป่วยแต่ไม่รุนแรง  สาเหตุของการแพร่ระบาดมาจากนักเรียนอยู่รวมในห้องแอร์ปรับอากาศ และทำกิจกรรมร่วมกัน 



          ขณะนี้พบผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ตรวจยืนยันพบเชื้อ รวม 20 ราย  ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามและควบคุมโรคในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติม



          ล่าสุด นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูล เรื่องโรค ไอกรน ภูมิต้านทานต่อไอกรนในคนไทย โดยระบุว่า  ไอกรนไม่ใช่โรคใหม่ ประเทศไทยมีวัคซีนฉีดในแผนการให้วัคซีนแห่งชาติมาเป็นเวลาร่วม 47 ปี โดยเน้นความสำคัญอยู่ในเด็ก เพราะความรุนแรงของโรคจะอยู่ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เราจึงให้วัคซีนที่มีส่วนประกอบไอกรนในรูปของวัคซีนรวม ที่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และ 4-6 ปีเป็นครั้งสุดท้าย



          ส่วนวัคซีนที่ใช้ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตพึ่งมีการนำมาใช้ในประเทศไทยประมาณเกือบ 20 ปี แต่วัคซีนมีราคาแพง และจะต้องฉีดด้วยความสมัครใจ และจ่ายเอง



           โดยภูมิต้านทานต่อโรคไอกรน ในเด็กไทยจึงสูงอยู่ในช่วง 10 ปีแรก และเมื่อหลังอายุ 10 ปีไปแล้ว ประชากรไทยจะมีภูมิต้านทานต่อไอกรนประมาณร้อยละ 50 เราทำการศึกษาเมื่อ 10 ปีที่แล้วและเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่าไม่ต่างกันเลย เพราะหลัง 10 ขวบไปแล้ว ประชากรไทยได้รับวัคซีนไอกรนน้อยมาก โรคจะรุนแรงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ปี ดังนั้นในเด็กโต จึงมีโอกาสเป็นโรคได้ แต่อาการน้อยมาก และจำนวนมาก ก็อาจจะมีเชื้อโดยไม่มีอาการ อย่างเช่นการระบาดครั้งนี้ ถ้าเราตรวจที่คอของเด็กทุกคน ก็คงจะเจอเชื้ออยู่บ้างที่ไม่มีอาการ



          สำหรับ การระบาดในเด็กนักเรียน เด็กโต ที่ตรวจพบเชื้อร่วม 20 ราย มี 2 รายไม่มีอาการใดๆเลย และสามารถแพร่เชื้อได้ด้วย และถ้ายิ่งตรวจ ก็จะเจอมากกว่านี้อีก การให้วัคซีนในเด็กโตไม่ได้อยู่ในภาคบังคับ มีการแนะนำให้วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก ทุก 10 ปี แต่ไม่ได้รวมไอกรน เหตุการณ์ที่เกิดในขณะนี้ ถ้ามองในอดีต ก็คงจะเคยมีแล้ว แต่เราไม่ได้ตรวจ ก็ไม่มีการระบาด ปัจจุบันการตรวจง่ายมาก ก็เลยพบมีการระบาดในเด็กโต ถ้าไม่ตรวจก็ไม่ระบาด



#ไอกรน



 

ข่าวทั้งหมด

X