เปิด 3 แนวทาง ศาลรธน.พิจารณาว่าจะรับ-ไม่รับคำร้อง 'ทักษิณและพรรคเพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

วันนี้, 05:44น.


           ติดตามการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้(22 พ.ย.67) เวลา 09.30 น.มีรายงานจากสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมประจำสัปดาห์



         วาระในการพิจารณาวันนี้ เป็นคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2560 คงต้องรอติดตามว่า จะมีการพิจารณาลงมติกันเลยหรือไม่ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย ขณะที่ อัยการสูงสุด(อสส.)ได้ส่งหนังสือและข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญมาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ครบหมดแล้วก็ทำให้คาดว่าน่าจะมีการหารือกันในวันนี้



        รายงานระบุว่า ขณะเดียวกัน อสส. ยังได้แนบบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง พร้อมกับมีความเห็นตอบกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อสส.มีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอสส.ก่อนหน้านี้ การพิจารณาไม่รับคำร้องของ อสส. ที่ส่งกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาคำร้องดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ



        แนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา คำร้องของนายธีรยุทธ มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ



1.รับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ส่งคำชี้แจงมายังศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน



2.ไม่รับคำร้อง



3.รับคำร้อง แต่อาจมีข้อพิจารณาแค่บางพฤติการณ์ จากทั้งหมด 6 พฤติการณ์



        ในส่วนคำร้องที่นายธีรยุทธ ยื่นมา ประกอบด้วย



1.ภายหลังจากที่นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ



2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับ สมเด็จฯฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย



3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองที่เป็นพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดิม ซึ่งมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคพวก



4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯคนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง



5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง



6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่นายทักษิณ ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อ วันที่ 12 ก.ย.67



 



#ทักษิณ



#พรรคเพื่อไทย



#ศาลรัฐธรรมนูญ



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X