สั่ง ดำเนินคดีเด็ดขาด กรมอุทยาน ฯ ร่วมกับ บก.ปทส. จับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ยึดสัตว์ป่าคุ้มครอง-สัตว์ป่าควบคุม หลายรายการ
นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับพล.ต.ต. วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นายสดุดี พันธุ์ภักดี ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา นายพลวีร์ บูชาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวกรองอาชญากรรมสัตว์ป่า นายนาวี ช้างภิรมย์ หัวหน้าชุดเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการจับกุม ผู้ต้องหาลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ตำรวจ กก.5 บก.ปทส. สืบสวนข้อมูลพบการลักลอบขนส่งสัตว์ป่าจากต่างประเทศ ปลายทางไปยังกรุงเทพมหานคร โดยตรวจพบรถยนต์ต้องสงสัย ในพื้นที่ตำบลทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จึงเข้าตรวจสอบรถคันดังกล่าว พบผู้ที่อยู่ภายในรถ จำนวน 2 คน และสัตว์ป่ามีชีวิตซึ่งคาดว่าเป็นสัตว์ป่าผิดกฎหมาย คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้บุคคลดังกล่าว ขับรถยนต์พร้อมสัตว์ป่าดังกล่าว มาตรวจพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร
กระทั่งวันนี้ชุดเหยี่ยวดง ร่วมกับตำรวจ กก.5 บก.ปทส. ตรวจสอบชนิดสัตว์ป่าภายในรถยนต์ดังกล่าว พบสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ชะนีมือขาว จำนวน 1 ตัว และชะนีดำใหญ่ จำนวน 2 ตัว และสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ได้แก่ ลิงอุรังอุตัง จำนวน 3 ตัว พร้อมทั้งได้ร่วมกันขยายผลไปยังสถานที่พักสัตว์ป่า ในพื้นที่บริเวณตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พบสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่มเติม ได้แก่ พังพอน จำนวน 1 ตัว และนกปรอดหัวโขน จำนวน 1 ตัว พร้อมผู้ครอบครองสัตว์ป่าดังกล่าว จำนวน 1 คน ก่อนที่จะขยายผลไปยังบริเวณบ้านในพื้นที่ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่พักสัตว์อีกแหล่งหนึ่ง พบสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ได้แก่ ลิงทามารินหัวสำลี จำนวน 7 ตัว และแพนด้าแดง จำนวน 2 ตัว พร้อมผู้ครอบครอง จำนวน 1 คน คณะเจ้าหน้าที่ จึงได้ตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี รวมทั้งสิ้นจำนวน 3 คดี และควบคุมผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น จำนวน 4 คน เป็นผู้ต้องหา รวมสัตว์ป่าที่ตรวจยึด จำนวนทั้งสิ้น 7 ชนิด 17 ตัว)
ทั้งนี้ คาดว่าแพนด้าแดงถูกนำมาจากประเทศโคลัมเบีย มูลค่าตัวละประมาณ 2 ล้านบาท นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อส่งต่อไปที่อื่น คาดว่ามาจากอินโดนีเซียและคาดว่าอาจจะสัตว์ป่าเหล่านี้จะถูกนำส่งไปต่างประเทศ สำหรับสัตว์ป่าของกลางจะ ส่งต่อให้กรมอุทยานนำไปดูแล เนื่องจากมีสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยจะมีการตรวจสุขภาพสัตว์ป่าก่อนส่งไปดูแลต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี ต่อไป
#จับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ
#สัตว์ป่าควบคุม
#สัตว์ป่าคุ้มครอง
Cr:กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช