ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันไม่หยุดช่วยเหลือ ปรับแผนรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนัก

02 เมษายน 2568, 22:12น.


          (2 เม.ย.68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหาย จากเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างถล่ม เขตจตุจักร ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด ยอดผู้ประสบภัย 96 ราย สูญหาย 72 ราย เสียชีวิต 15 ราย (ที่เกิดเหตุ 14 ราย/รพ.พญาไท 1 ราย) (เพศชาย 8 ราย, เพศหญิง 7 ราย) รอดชีวิต 9 ราย ทำให้มียอดผู้สูญหายจากสถานการณ์แผ่นดินไหวในส่วนของกรุงเทพมหานคร 74 ราย บาดเจ็บ 35 ราย เสียชีวิต 22 ราย รอดชีวิต 9 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2568 เวลา 17.00 น.)



          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการทำงานวันที่ 5 เมื่อคืนนี้สามารถยกชิ้นส่วนออกไปประมาณ 10 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 100 ตัน สามารถเปิดช่องว่างให้กู้ภัยเข้าไปค้นหาด้านใน พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย สามารถนำออกมาได้แล้ว แต่ยังมีอีกประมาณ 14 ร่างที่ยังติดค้างอยู่ตรงกลาง มีสิ่งกีดขวางด้านในและเหล็กต่าง ๆ ทำให้ยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ จึงปรับแผนการทำงานโดยนำเครื่องจักรหนักเข้ามาช่วย และจะไปให้ถึงปล่องลิฟต์และทางหนีไฟ



          นอกจากนี้ได้นำวิธีการมาร์คจุดว่า จุดใดพบร่างผู้เสียชีวิต เป็นใคร อยู่บริษัทอะไร เนื่องจากเชื่อได้ว่าบริเวณใกล้เคียงกันจะมีคนงานที่อยู่บริษัทเดียวกันติดค้างอยู่



          การทำงานในช่วงขณะนี้จะเป็นการทำควบคู่กันไประหว่างการช่วยเหลือและการรื้อถอน จะค่อย ๆ ปรับไปตามหน้างานโดยจะมีการรื้อถอนมากขึ้น แต่เมื่อเห็นว่าต้องเอาทีมช่วยเหลือเข้าพื้นที่ ทีมรื้อถอนก็จะหยุด เมื่อเห็นว่าช่วยเหลือต่อไม่ได้ ทีมรื้อถอนต้องเข้าผลัดเปลี่ยนกัน ซึ่งวานนี้ ได้ใช้การช่วยเหลือสลับกับรื้อถอนที่โซน B และ C ด้านหลัง ส่วนวันนี้ เป็นโซน A C และ D และขอยืนยันยังทำเต็มที่



          เมื่อช่วงบ่ายได้รับแจ้งว่าที่เมียนมาพบผู้รอดชีวิต ดังนั้น เราก็ยังมีโอกาส แม้จะน้อยลงแต่ก็จะทำเต็มที่



          ทีมงานนานาชาติต่างบอกตรงกันว่าเคสตึกถล่มที่จตุจักรนี้ซับซ้อนที่สุดที่เคยเจอ เพราะเป็นอาคารสูงที่ถล่มลงมาทีเดียว มีผู้ติดค้างอยู่จำนวนมาก ในการทำงานอาจไม่ถูกใจบางคนก็ต้องขอโทษด้วย แต่ทั้งหมดคือการพิจารณาร่วมกันของทุกทีม โดยมีต่างชาติเป็นผู้แนะนำ และมีทีมไทยเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้วิธีการยกเศษซากอาคารจากด้านบนลงมา เป็นเพราะการรื้อเศษซากจากด้านล่างจะทำได้ไวกว่า เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์เครื่องจักรหนักขนาดใหญ่และกำลังมากพอ ที่จะไปเริ่มรื้อถอนจากด้านบนที่อยู่สูง



          นอกจากนี้ ยังให้ทีมจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับญาติผู้สูญหาย เพราะญาติก็มีอาการตกใจเมื่อเห็นว่านำเครื่องจักรหนักเข้าไป ก็ต้องทำความเข้าใจว่ายังไม่ได้หยุดค้นหา แต่จะเร่งเปิดทางให้เร็วขึ้น ยืนยันว่ายังไม่มีการกำหนดเวลาที่จะหยุดช่วยเหลือ แต่จะค่อยๆ เพิ่มการรื้อถอนให้มากขึ้นตามหน้างาน และจะค้นหาจนพบ สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่รถเครนที่มารอเข้าช่วยเหลือแต่ยังไม่ได้ทำงานนั้น จากการสอบถามแต่ละหน่วยงานยังไม่มีใครพูดอะไรเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่าเจ้าของรถเครนยังไม่เข้าใจแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะส่วนมากจะใช้รถเครนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่คันในการทำงาน



          ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานว่าล่าช้า ถ่วงเวลา ทำให้โอกาสรอดชีวิตน้อยลง ต้องขอแจ้งว่าเป็นการปรับแผนตามสภาพหน้างาน เพื่อให้เข้ากับการทำงานของทีมกู้ภัยทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นเหตุวิกฤติที่ต้องมีผู้นำในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามหากปฏิบัติการนี้แล้วเสร็จ หลังจากนี้อาจจะมีการเชิญเข้ามาพูดคุยหารือกันถึงแนวทางการทำงานในอนาคตต่อไป



          ...



#แผ่นดินไหว #กทม #กู้อาคาร #ตึกถล่ม #เขตจตุจักร



 

ข่าวทั้งหมด

X