ธปท.เปรียบเทียบภาษีนำเข้าสินค้าไทยไปสหรัฐ –พิชัยหารือ สหรัฐ 23 เม.ย.นี้

18 เมษายน 2568, 08:47น.


       ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปรียบเทียบอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ก่อนและหลังโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 รวมไปถึง exposure ต่อเศรษฐกิจไทย โดยจากการคำนวณพบว่า ปัจจุบัน ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ เป็น SME ถึง 4,990 ราย จำนวนนี้ 4,800 ราย กำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ที่ประกาศขึ้นไปก่อนหน้านี้ โดย ธปท. ได้เปรียบเทียบอัตราภาษีและคำนวณ exposure ต่อเศรษฐกิจไทย จากสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ 3 กลุ่ม ดังนี้



          กลุ่มที่ 1: Sectoral Tariff ตัวอย่างเช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน (รวมยางล้อ) เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งครองสัดส่วน 2.4% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยอัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2568 อยู่ที่ 2.4% แต่ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นมา 25% ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้สร้าง GDP ไทยราว 0.9% ในปี 2567 และมีผู้ส่งออกที่เป็น SMEs หรือผู้ส่งออกที่มีรายได้จากการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 363 ราย



        กลุ่มที่ 2: Reciprocal Tariff ตัวอย่างเช่น เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เกษตรและเกษตรแปรรูป ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอื่นๆ ซึ่งครองสัดส่วน 10.6% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยพบว่า อัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2568 อยู่ที่ 2.4% แต่ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นมา 10% (ทรัมป์เลื่อน full reciprocal tariff ออกไป 90 วัน) โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้สร้าง GDP ไทยราว 1.2% ในปี 2567 และมีผู้ส่งออกที่เป็น SMEs จำนวน 4,437 ราย



       กลุ่มที่ 3: Sectoral Tariff (ที่ยังไม่ขึ้นภาษี) ตัวอย่างเช่น อิเล็กทรอนิกส์ทองแดง ยา ไม้ ซึ่งครองสัดส่วน 5.3% ของการส่งออกไทยทั้งหมด โดยพบว่า อัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ก่อนวันที่ 20 มกราคม 2568 อยู่ที่ 0% จนถึงปัจจุบัน โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้สร้าง GDP ไทยราว 0.1% ในปี 2567 และมีผู้ส่งออก SMEs จำนวน 190 ราย



          นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยการเจรจาของประเทศไทยนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าทางสหรัฐฯได้ตอบรับการเจรจากับประเทศไทย โดยกำหนดวันเจรจาในวันที่ 23 เม.ย.นี้ โดยเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรี โดยฝ่ายไทยจะนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์ในการพูดคุย ซึ่งมั่นใจว่าข้อเจรจาที่เราเตรียมการไว้จะเป็นข้อเสนอที่ดีที่จะมีการพูดคุยกับทางสหรัฐฯให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในลักษณะของ Win Win ร่วมกัน 



        เมื่อถามว่าที่ผ่านอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้บอกว่ามีการต่อสายคุยกับคนรอบตัวของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีทรัมป์นั้น นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า เป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการพูดคุยเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาตนเองก็มีการพูดคุยในลักษณะแบบนี้เก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมไทยแลนด์ที่ไปเจรจาต่อไป 



 



#สงครามการค้า



#ผลกระทบสินค้าไทย

ข่าวทั้งหมด

X