ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาโพสต์ข้อความในวันนี้ (21 เมษายน 2568) ระบุว่า มีเสียงวิจารณ์กันมากในสื่อสังคม ในฐานะที่เป็นกลาง และพยายามให้ความรู้ ที่เกิดจากงานวิจัยของเรามาโดยตลอด เมื่อได้รับฟังในสื่อสังคม ก็อดไม่ได้ ที่อยากจะ ให้ความคิดเห็น ของ แพทย์รุ่นพี่ ที่รุ่นน้องเรียกว่าลุง ต้องยอมรับก่อนว่า วัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 ที่มีระยะฟักตัวสั้น และมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่ได้สูงอย่างวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี หรือวัคซีนป้องกันหัด และป้องกันโรคต่างๆในเด็กเล็ก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำมาก แต่เชื่อว่าลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล
ปีที่แล้วผมได้ฉีดวัคซีนให้กับลูกหลานทุกคน แต่ก็ติดไข้หวัดใหญ่เกือบทุกคน แต่ไม่มีใครนอนโรงพยาบาลเลย ผมเองก็ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มามากกว่า 20 ปีแล้วไม่เคยขาด แต่ก็เป็นไข้หวัดใหญ่ ปีเว้น 1 หรือ 2 หรือ 3 ปีมาโดยตลอด เหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยนอนโรงพยาบาล ด้วยเรื่องไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริงในการลดการนอนโรงพยาบาล 40-60% เท่านั้น
ถ้าถามว่า ปีนี้จะฉีดให้กับลูกหลานและตัวเองหรือไม่ ตอบได้เลยว่า "ฉีด" อีก ทั้งนี้เพราะ วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ใช้กันมานานมาก และมีราคาไม่แพง
ซึ่งตรงข้ามกับวัคซีนโควิด 19 ถ้าถามว่าจะฉีดไหม ผมตอบได้เลยว่า "ไม่ฉีด" โรคโควิด 19 ขณะนี้ไม่ต่างเลยกับไข้หวัดใหญ่ ที่ไม่ฉีดก็เพราะว่าวัคซีนมีราคาแพงมาก แพงกว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่า 10 เท่า และอาการข้างเคียงก็มีมากกว่า ถึงจะเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่เคยเป็นมาเลยก็ไม่ฉีด เมื่อก่อนที่ฉีด ก็เพราะโรคในความรุนแรงลงปอดได้สูงมาก ปัจจุบันเปลี่ยนไป ตามวิวัฒนาการ และเป็นเหตุที่ทำให้วัคซีนโควิด 19 จึงเลิกผลิตกันถึงเกือบหมด วัคซีน mRNA ที่มีการชื่นชอบกันมากในช่วงของโควิด 19 มีการศึกษาระยะสั้น เร่งด่วน ขณะนี้ก็ไปไม่รอด แนวโน้มก็คงจะเลิกผลิตทั้งหมด
งานทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการศึกษาวิจัย ถ้าสมมุติทำการศึกษาวิจัย 10 โครงการ แน่นอนใน 10 โครงการนั้นมีทั้งโครงการที่ให้ผลบวกและผลลบ แล้วแต่ใครจะหยิบโครงการไหนมาพูด จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ผมให้ความรู้ จะใช้จากงานวิจัยที่เราได้ทำ โดยเฉพาะทำในประเทศไทย สังคมไทย มากกว่าที่จะอ่านวารสารมาให้ฟัง และไม่เคยทำวิจัยในเรื่องนั้นเลย สิ่งที่สำคัญก็คือบางครั้งแค่อ่านหนังสือได้ ไม่ได้วิเคราะห์หรืออ่านหนังสือเป็น ก็มาวิพากษ์วิจารณ์กันทำให้ประชาชนสับสน
ในทางการแพทย์ ก่อนจบแพทย์ จะมีการอบรมปัจฉิมนิเทศ และมีการแจก ให้อ่านและเป็นเอกสารที่สวยงาม โดยเฉพาะ Hippocratic Oath ที่แพทย์ทุกคนควรจะได้พึงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ Hippocratis ซึ่งสามารถ ค้นอ่านได้จากออนไลน์ได้ง่ายมาก ถ้ากระดาษแผ่นนั้นหาย และจะต้องอยู่ในจิตใจ
ในการที่แพทย์รุ่นน้อง bully แพทย์รุ่นพี่ ผมเห็นว่า แนวทางการปฏิบัติไม่ได้ถูกอบรมตามแบบอย่าง Hippocratic Oath หรือไม่เช่นนั้น ก็ไปอยู่เมืองนอกเสียนานเลยลืมหมด ผมคงไม่ได้แตะต้องเนื้อหาความรู้ เพราะผมเชื่อว่า สมัยนี้ความรู้ที่พูดออกมาจากการอ่านวารสารให้ฟัง ประชาชนทั่วไปในสื่อสังคมสามารถตัดสินใจได้
ในช่วงของโควิด 19 ผมเองก็ถูกบูลลี่อย่างหนัก แต่ไม่เคยตอบโต้ และมีการพูดจาอย่างสุภาพเสมอในฐานะที่เราเป็นแพทย์ และไม่เคยโกรธเกลียดใคร การพูดครั้งนี้ก็พยายามพูดเป็นกลาง
สำหรับ ฮิปโปเครติส (Hippocrates) ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดวิชาแพทย์” หรือ “บิดาแห่งการแพทย์” (The Father of Medicine) เนื่องจากเป็นแพทย์คนแรกที่ได้ศึกษา ค้นคว้า นำวิธีการรักษาโรคแบบใหม่มาเผยแพร่ และมาใช้กับคนไข้ที่มารับการรักษาจากเขา ทั้งเป็นคนแรกที่ได้ปฏิรูปวงการแพทย์ด้วยการปฏิเสธไม่นำการรักษาแบบเก่า ที่เป็นการรักษาด้วยหมอพระมาใช้อย่างสิ้นเชิง โดยได้นำวิธีการรักษาแบบใหม่มาใช้แทน คือ วินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคก่อนแล้วจึงทำการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้
#จรรยาบรรณแพทย์