สภาฯผู้บริโภคยื่นจดหมายนายกฯ จัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม ประโยชน์สูงสุด

วันนี้, 17:45น.


          สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค รวมถึงการปรับแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค



          นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาฯผู้บริโภค เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ครอบคลุมถึง 4 ย่านหลัก ได้แก่ 850 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz (เฉพาะที่จะสิ้นสุดปี 2568 ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที) และ 2300 MHz จึงมีข้อกังวลว่า หากไม่มีแนวทางรองรับที่เหมาะสม อาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบสื่อสาร โดยเฉพาะในภารกิจด้านบริการสาธารณะ



          การนำคลื่นของเอ็นทีเข้าประมูล โดยไม่มีการเว้นไว้สำหรับการใช้งานในภารกิจของรัฐหรือการให้บริการสาธารณะ อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางสื่อสารในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบาง และประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังพึ่งพาโครงข่ายของเอ็นที นอกจากนี้ สภาฯผู้บริโภค ยังกังวลว่า การเปิดประมูลคลื่นพร้อมกันหลายย่าน อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่สมดุลในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้ให้บริการหลักเพียงสองราย และอาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้น จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ให้เร่งประสานกับ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่



1. ให้กำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุดโดยพิจารณาจากปริมาณและคุณภาพของการให้บริการ รวมทั้งเงื่อนไขการให้บริการของผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ให้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการแข่งขันประมูล



2. ให้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนในการอนุญาตให้เอ็นที, ผู้ให้บริการ MVNO หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม พร้อมกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่แน่นอน และบทลงโทษในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข



3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนผู้บริโภค กสทช. เอ็นที ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการ MVNO เพื่อจัดทำแผนรองรับผลกระทบต่อผู้บริโภคจากกรณีการหมดสัญญาของเอ็นที



4. ขอให้กระทรวงดีอีหาแนวทางสนับสนุนให้เอ็นทีสามารถใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช. ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยจากเหตุการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้บริโภค



...



#ประมูลคึลื่นความถี่



#สภาผู้บริโภค

ข่าวทั้งหมด

X