การเดินทางลงพื้นที่จ.จันทบุรี วันที่2 ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เช้านี้พาไปเที่ยวชุมชนบางกะจะ อยู่ที่อ.เมือง เมื่อเดินเข้ามาในชุมชนจะสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กันอย่างสงบเงียบ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ยังมีความเก่าแก่ของบ้านเรือนที่พักอาศัย ที่เป็นบ้านไม้ปลูกติดกันเป็นชุมชน
ชุมชนบางกะจะ เป็น 1ใน15หมู่บ้าน OTOP Village Champion หรือหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวในปี2557 โดยจะมีตลาดเช้าหรือตลาดสายหยุด ที่ชาวบ้านในชุมชนจะขายของกันทุกวันตั้งแต่เช้าตรู่จนถึง08.00 น. ตลาดก็จะวายร้านค้าทุกร้านจะหยุดขายของ จึงเป็นที่มาของคำว่า"ตลาดสายหยุด" แนะนำว่า ถ้าจะมาเที่ยวหาของรับประทานที่ตลาดแห่งนี้ให้มากันตั้งแต่เช้า เพราะจะเริ่มขายกันตั้งแต่ 04.00 -05.00 น. นักท่องเที่ยวที่มาพักค้างคืนที่ตัวเมืองจังหวัดจันทบุรี ควรมาสัมผัสและชิมอาหารท้องถิ่นในตลาด เช่น ข้าวเกรียบอ่อนไส้มะพร้าว ข้าวเกรียบอ่อนน้ำจิ้ม ปาท่องโก๋น้ำจิ้ม ขนมครก และก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง เป็นต้น
รสชาดน้ำจิ้มทั้งจากปาท่องโก๋และข้าวเกรียบอ่อนจะคล้ายกัน มีรสชาติครบ ทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม และเผ็ดเล็กน้อย ถือเป็นของแปลกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยทาน
นางสาวจันทนา รักนาม เจ้าของร้านข้าวเกรียบอ่อน เล่าว่า แป้งที่ทำข้าวเกรียบ ใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งมันผสมกัน ราดลงไปในหม้อที่ขึงผ้าขาวบาง หากเป็นข้าวเกรียบน้ำจิ้มจะไม่มีไส้ ราดเพียงน้ำจิ้มที่มีการเคี่ยวจากกุ้งแห้ง น้ำปลา มะนาว พริก กระเทียม จะได้รสชาด3รส แต่หากใส่ไส้ก็จะใส่มะพร้าวที่ผสมกับงาและน้ำตาล ไม่มีน้ำจิ้มราด
ส่วนปาท่องโก๋ที่จังหวัดจันทบุรีจะแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆโดยที่มีน้ำจิ้มให้ได้จิ้ม ซึ่งมีส่วนผสมจาก พริก กระเทียม น้ำส้มสายชู น้ำตาล
จากนั้น ททท.ยังพาชมศาลเจ้าเหี่ยนเนี้ยวโจ๊ว ศาลจ้าวเหี้ยนเที๊ยนโกเบี่ยว และ ศาวจ้าวแม่เทียนโหวเซียโบ๊ สถานที่ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา ซึ่งจะคึกคักในช่วงเทศกาลกินเจหรือเทศกาลทิ้งกระจาด เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก
และพาชมวัดพลับที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น หลวงปู่กอด พระประดิษฐานในรากต้นไม้ขนาดใหญ่ เมรุเผาศพโบราณที่สร้างตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่3 หอไตรกลางน้ำ เจดีย์กลางน้ำ ที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา และที่สำคัญคือพระปราง วางพระพุทธรูปประจำทั้ง4ทิศ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าจะสามารถป้องกันอันตรายได้
รวมถึงพาชมภูมิปัญญาบ้านบางกะจะ ที่สานศิลป์บนกะลาผ่านการตัด แกะ เจาะ ขัดอย่างพิถีพิถัน ด้วยการเลือกกะลามะพร้าวในท้องถิ่น มาสร้างงานหัตถกรรมในรูปแบบต่างๆได้อย่างสวยงาม โดยเป็นผลงานของอาจารย์ปธาน เอมะนาวิน อดีตอาจารย์ช่างเครื่องยนต์วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี ปัจจุบันใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ที่บ้านบางกะจะ อาจารย์ปธาน เปิดเผยว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนมีผู้ใหญ่ให้ท่อนไม้มา 2 ท่อน คิดว่าจะเอามาทำอะไรดี ก็นึกถึงพระ มรดกตกทอดมา และมีคนให้มาบูชาหลายองค์ จึงคิดทำที่เก็บพระ ก็เริ่มแกะไม้ 2 ท่อนนั้นเป็นหลุมๆสำหรับใส่พระแต่ละองค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแกะไม้
กะลาแต่ละใบจะมีขนาดแตกต่างกัน จะต้องร่างแบบคร่าวๆเพื่อที่จะทราบว่าต้องใช้กะลากี่ใบตัดทรงไหนมาต่อตรงไหน ถึงจะได้รูปทรงตามที่ต้องการ ส่วนการแกะสลักลวดลายบนกะลา จะเขียนลวดลายลงบนกระดาษก่อน และวาดลงบนกะลา แกะสลักด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ ซึ่งเวลาทำจะคิดถึงประโยชน์การใช้สอย ไม่ได้ทำขายเพราะแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาทำค่อนข้างมาก
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ