รู้หรือไม่? ซื้อโทรศัพท์มือถือบ่อยเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและตัวคุณ!!

25 กรกฎาคม 2561, 13:00น.


    ในโลกแห่งเทคโนโลยีแบบนี้หลาย ๆ หน่วยงานมีการพัฒนานวัตกรรมสินค้าของตนมากมาย จนทำให้เกิดเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ที่พัฒนาจากจอใหญ่ ๆ หนา ๆ มาเป็นจอแบน บาง ๆ ประหยัดพื้นที่ลง หรือโทรศัพท์มือถือที่ตอนนี้มีการพัฒนารุ่นขึ้นไปเรื่อย ๆ แทบจะตามไม่ทัน จนเราห่างหายจากการนำเครื่องที่พังส่งซ่อมมานานแล้ว เพราะเอะอะก็ซื้อใหม่ได้ ซึ่งคุณรู้หรือไม่ ว่าการที่เราซื้อใหม่เรื่อย ๆ แบบนี้ถือเป็นการเพิ่มจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและตัวคุณ!!

      ขยะอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร ?

   ผศ.ดร.อัจฉรา อัศวรุจิกุลชัย คณะสิ่งแวดล้อมและพยากรณ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้มีตั้งแต่พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นขายสินค้า ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่าง โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป เครื่องมือช่าง หลอดไฟ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้อยู่ชีวิตประจำวัน



     ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากแค่ไหนกันเชียว ?

  ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2559 ในประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นกว่าเกือบ 400,000 ตัน และข้อมูลจาก The Global E-Waste Monitor ปี 2016 ที่เป็นข้อมูลทั่วโลกพบว่า มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 44.7 ล้านตัน เทียบเท่ากับหอไอเฟลทั้งหมด 4,500 ตึก และถ้าคิดว่าคนหนึ่งคนทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ ก็คิดได้ประมาณ 6.1 กก./คน/ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสารพิษซ่อนเร้นอยู่ทั้งสิ้น



      แล้วสารพิษจากขยะอิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบใดบ้าง ?

    ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ และแน่นอนมันมาถึงคน ถึงได้อย่างไร? เช่น น้ำที่อาจจะมาจากฝน หรือเราเท เราราดโดนตรงบริเวณดินที่ปนเปื้อนสารพิษจากขยะอิเล็กรทอนิกส์เหล่านี้อาจจะซึมลงไปถึงน้ำใต้ดิน ที่อาจจะต้องนำมาใช้ในอนาคต ซึ่งในบางครั้งน้ำที่ถูกดินที่ปนเปื้อนอาจระเหยสารพิษขึ้นมาทำให้คนงานที่ทำงานอยู่บริเวณนั้นเกิดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเป็นกลุ่มแรก



      อันตรายจากสารพิษที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์

    ผศ.ดร.อัจฉรา อัศวรุจิกุลชัย ยังกล่าวอีกว่า สารที่พบว่าเป็นอันตรายที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะเป็นสารโลหะหนัก โดยจะอธิบายพอสังเขป ดังนี้

    1. สารตะกั่ว ซึ่งอยู่ในบรรดาจอภาพทีวี จอคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า โดยมีผลต่อระบบไต ระบบประสาทส่วนกลาง และที่สำคัญถ้าเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปเยอะ ๆ จะทำให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง เด็กจะพัฒนาทางสมองไม่เต็มที่แล้วมันไม่สามารถที่จะฟื้นคืนกลับมาได้ เด็ก ๆ ก็จะเป็นแบบนั้นไปตลอด ส่วนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ถ้าได้รับสารตะกั่วเข้าไปก็จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กในครรภ์เกิดความผิดปกติ พิการได้



    2. สารปรอท ซึ่งจะพบอยู่ในพวกหลอดไฟนีออน (ฟลูออเรสเซ็นท์) สารปรอทจะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบควบคุมประสาทส่วนกลาง การเคลื่อนไหว การได้ยิน



     3. สารแคทเมียม สารตัวนี้จะพบในแบตเตอรี่มือถือ ทำให้มีผลกระทบต่อกระดูก ไต



      ขั้นตอนกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์



      ผศ.ดร.อัจฉรา อัศวรุจิกุลชัย กล่าวว่า การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมควรจะมีเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่แอบทำ แอบจำกัดเองแบบผิด ๆ ซึ่งก็คงไม่เกิดผลดีต่อร่างกายแน่นอน โดย ผศ.ดร.อัจฉรา ได้อธิบายขั้นตอนการจำกัดขยะที่เหมาะสมไว้ คือ

     1. ร้านค้าที่รับสินค้าพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าจากโรงงาน แล้วผู้บริโภคก็ไปซื้อจากร้านค้ามาใช้จนหมดอายุการใช้งาน

     2. ก็จะมีระบบการเรียกคืน (โดยระบบการเรียกคืนอาจจะเป็นร้านค้ารับคืนหรืออาจจะมีหน่วยงาน เช่น เทศบาล) รับเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์รวบรวมเก็บไว้

     3. จากนั้นบรรดาร้านค้าหรือหน่วยงานของเทศบาลก็จะส่งคืนไปยังโรงงานที่ผลิต

     4. สุดท้ายโรงงานที่ผลิตจะส่งไปยังโรงงานสำหรับคัดแยกและรีไซเคิลขยะประเภทนี้โดยเฉพาะ แม้ว่าจะมีราคาที่สูงแต่ก็เป็นการจัดการอย่างถูกวิธีที่สุด

     ซึ่งนี่ถือเป็นวิธีที่ถูกต้องตามหลัก EPR (Extended, Producer, Responsibility) ตามที่ร่างไว้กฏหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยในประเทศไทยกำลังทำอยู่     




     วิธีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่จัดการกันเองเพียงเพราะเห็นว่าราคาในการกำจัดถูกกว่าให้โรงงานจัดการ ก็เพื่อป้องกันปัญหา ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงป้องกันชีวิตเราไม่ให้ตกอยู่ในห้วงของสารพิษอันตรายที่อาจคร่าชีวิตของเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

    ที่มา Facebook Fanpage : Mahidol Channal

    รูปภาพ diariodigitalelindependiente.com, Mahidol Channal, springnews.co.th, theodysseyonline.com



 

X