!-- AdAsia Headcode -->
วันออกพรรษา แม้ไม่เป็นวันหยุดราชการ แต่ในหลายท้องถิ่นก็มีการจัดงานประเพณีเนื่องในวันดังกล่าว เช่น ประเพณีรับบัว วัดบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ ประเพณีออกหว่า อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ฯลฯ และประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าประจำปี ของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เรามีโอกาสได้มาร่วมเป็นพยานถึงความยิ่งใหญ่อลังการใน พ.ศ.นี้ จนอดแอบคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่า ในเมื่อจัดใหญ่จัดเต็ม มีพี่น้องประชาชนมาร่วมงานอย่างมืดฟ้ามัวดินขนาดนี้ ก็น่าจะประกาศเป็นวันหยุดเฉพาะของชาวสุราษฎร์ ไปซะเลย
“ประเพณีชักพระ คืออะไร ?” เพื่อนคนหนึ่งโพล่งออกมาด้วยความสงสัยเต็มกำลัง
“เป็นประเพณีทำบุญออกพรรษาของชาวปักษ์ใต้” เราพูดต่อ “ไฮไลท์ คือ มีการแห่รถพนมพระ จาก 130 วัด ทั่วจังหวัด การตกแต่งประกวดประชัน การแข่งเรือยาว และมีคนมาร่วมงานมากกว่าหมื่นชีวิต”
“โอ้โห !”
[1] บุกโรงงานข้าวต้มลูกโยน
เราออกเดินทางซ่อนความหลังไว้ที่กรุงเทพฯ มาถึงสุราษฎร์ธานีก่อนงานระเพณีชักพระ 1 วัน เพื่อดูการตระเตรียมและนับถอยหลังไปพร้อม ๆ กับพวกเขา ภาพความร่วมไม้ร่วมมือกันของพ่อเฒ่าแม่แก่ที่ช่วยกันห่อข้าวต้มลูกโยน หรือที่ภาษาถิ่นเรียก แทงต้ม ที่วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ นับร่วมร้อยชีวิต เพื่อนำไปแจกจ่ายรับประทานกันในงานประเพณีวันพรุ่ง เป็นภาพที่แทบหาไม่ได้แล้วในชีวิตประจำวันในที่ ๆ เราจากมา แต่ทำไมต้องทำข้าวต้มลูกโยนในวันนออกพรรษา มีเหตุผลอะไร ? ข้าวต้มมีรสชาติ และขั้นตอนการทำอย่างไรบ้าง คำตอบรอเราอยู่แล้วที่ พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
พระมหาบุญโฮม เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า “วันออกพรรษา คือ วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากขึ้นไปจำพรรษา 3 เดือน เพื่อเทศนาธรรมแก่พุทธมารดา”
“ยังไงต่อครับหลวงพ่อ” เราเร่งถาม
“ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมานั้นเอง ก็มีพุทธศาสนิกชนแห่มารอเพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น ทำให้หลายคนเข้าไปถึง จึงมีผู้เกิดความคิดบรรเจิดทำข้าวต้มลูกโยนขึ้นมา”
“อ๋อ....” แล้วข้าวต้มมีวิธีทำยังไงบ้างครับ
“ต้องเริ่มจากการแช่ข้าวเหนียว คั้นน้ำกะทิ แล้วนำทั้ง 2 อย่างมาผัดรวมกัน โรยเกลือเล็กน้อย เมื่อผัดจนน้ำงวดแล้วก็เติมน้ำตาล ถั่วดำ ถั่วขาวต้มสุก พักไว้ให้เย็น ห่อด้วยใบกระพ้อสีตองอ่อนสวยงาม แล้วนำไปนึ่งให้สุกใช้เวลาประมาณ 45 นาที พร้อมกินและแจกจ่ายได้”
เราฟังแล้วน้ำลายไหล ไหนขอชิมสักหน่อย รสชาติออกหวาน มัน เค็ม ที่สำคัญหอมกลิ่นกะทิมาก พูดเต็มปากไม่กลัวใครว่า นี่ล่ะ คือ อีกหนึ่งไฮไลท์เด็ดของประเพณีชักพระที่ห้ามพลาด !
[2] วันงานเทศกาลผ่านมา
วานนี้สุราษฎร์ เปียกปอน แต่เช้าวันออกพรรษาแดดแรงเหมือนแดดกรุงเทพฯ
เช้านี้เรามีนัดที่ลานพิธีทำบุญ ถวายพุ่มผ้าป่า บนจุดตัดระหว่างถนนศรีสุราษฎร์-ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เกือบทุกคนที่มาร่วมงานจะสวมเสื้อสีเหลืองส้ม (แสด) สีประจำจังหวัด มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านมาร่วมเป็นประธาน ก่อนถึงฤกษ์เคลื่อนขบวนแห่รถพนมพระทั้งหมด 130 คัน ในเวลา 08.30 น. จุดสตาร์อยู่บนถนนดอนนก หน้าศาลจังหวัด สุราษฎร์ธานี เราเดินสำรวจไปพร้อมเพื่อนช่างภาพด้วยกันแบบไม่กลัวแดดเผา ทุกคนต่างผิวเกรียมเพราะแสงยูวีอย่างเท่าเทียม และไม่มีใครถอย
“ทำไมต้องชักพระ มีความหมายอะไรแฝงอยู่ ?”
พี่ไก่ เจ้าหน้าที่ ททท.สุราษฎร์ธานี อดีตนายหนังตะลุง เล่าว่า “งานชักพระเป็นการจำลองพิธีอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบก แล้วแห่แหนไปยังที่ประทับของพระองค์ หลังเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา อีกนัย คือ การฉลองการเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้า”
“องค์ประกอบของรถพนมพระ มีอะไรบ้าง” เราถามต่อแบบไม่ให้พี่ไก่หยุดหายใจ
“ตัวรถจะตกแต่งเป็นรูปเรือ ประดับตกแต่งเป็นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น นาค ครุฑ สิงห์ และหงส์ บ้างทำจากไม้ฉลุ บ้างเป็นเปลือกหอย หรือกะลา ตามจิตนาการของแต่ละวัดที่ส่งเข้าประกวด บนรถประดิษฐานพระพุทธรูปบางอุ้มบาตร มีพระสงฆ์คอยประพรมน้ำพุทธมนต์ และเสียงฆ้อง-กล้อง ประกอบจังหวะการชักลาก แถมตกดึกเปิดสวิตช์ไฟอวดแสงสียามค่ำคืนได้อีกต่างหาก”
“อลังการมาก !”
“ใช่แล้ว….นอกจากนี้คนที่มาร่วมงานยังได้ทำบุญร้อยวัดในวันเดียว ชมการแข่งเรือยาวในแม่น้ำตาปี แถมยังมีรถต้นเทียนพรรษา พร้อมนางรำและคณะกว่าสองร้อยชีวิต เดินทางข้ามภาค ข้ามสำเนียงภาษาจาก จ.อุบลราชธานี มาร่วมงานประเพณีชักพระกับเราด้วย ดีงามไหมน้องบ่าว หือ ?”
เราพยักหน้ารับ สมคำร่ำลือ....
ระหว่างเก็บภาพ และความรู้สึกในเหตุการณ์ เราเห็นแต่ความสุขบนใบหน้าผู้คน แม้แต่อากัปกิริยาอันสงบเคร่งครึมของพระสงฆ์ผู้กำลังท่องมนต์ ช่วยดับร้อนสาธุชนจากน้ำมนต์ในขัน ลีลาการฟ้อนรำเนิ่บ ๆ น่ารัก น่ากอด ของบรรดาแม่เฒ่า และสาวงามที่แต่งตัวประชันกันในชุดเสื้อลายดอก ผ้าถุงปาเต๊ะ
“ผมเลือกไม่ถูกจริง ๆ ว่าจะรักใครมากกว่ากันระหว่างสาวสุราษฎร์ กับสาวอุบล” เพื่อนนักเดินทางคนหนึ่งพูดนัยน์ตาเคลิ้มฝัน พวกเราต่างสนุกสนานไปกับงานประเพณีชักพระจนลืมเวลา
ค่ำวันนั้นเราติดตามการแห่รถพนมพระอยู่ในมุมหนึ่งของ จ.สุราษฎร์ ทราบข่าวว่า ขบวนสุดท้ายพึ่งแห่แล้วเสร็จเมื่อ 21.09 น. ใช้เวลาเกือบ 14 ชั่วโมง กับรถพนมพระ 130 คัน
“ต้องมีความรัก ความศรัทธากว้าง-ยาวขนาดไหน” เพื่อนคนเดิมถามอย่างอดสงสัยไม่ได้
#ป๋าแนทเที่ยวเตร่