!-- AdAsia Headcode -->

คลายความสงสัย!! กินหมูกระทะเสี่ยงติด “เชื้อไวรัสตับอักเสบอี” จริงหรือ

23 มกราคม 2563, 15:18น.


            ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หมูกระทะ” กลายเป็นอาหารที่ใครหลายๆ คนนึกถึงและกินกันอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเทศกาลไหน โอกาสอะไร โดยการกินหมูกระทะแน่นอนว่าต้องใช้ตะเกียบคีบเนื้อหมูดิบวางไปบนเตา และหลายคนก็มักจะเผลอนำตะเกียบใส่ปากทันที หรือคีบเอาเนื้อหมูสุกจิ้มน้ำจิ้มเข้าปากกินกันอร่อยไม่น้อย แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่าอาจมีคนสงสัยถึงการใช้ตะเกียบคีบหมูสดวางไปบนเตาแค่นั้นจะเสี่ยงติด “เชื้อไวรัสตับอักเสบอี” ได้จริงๆ หรือ และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับทุกๆ คน เราให้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไขข้อสงสัยนี้กันดีกว่า

            กินหมูกระทะเสี่ยงติด “เชื้อไวรัสตับอักเสบอี” ได้จริงหรือ?


           สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการกินหมูกระทะที่บอกว่าเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีนั้นขอตอบตรงนี้เลยว่า “มีส่วนจริง” เนื่องจากไวรัสตับอักเสบอีที่พบในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับการกินหมูดิบ มีประวัติพบผู้ป่วยที่ใช้ตะเกียบคีบหมูกระทะ หมูบาร์บีคิว และใช้ตะเกียบอันเดียวกันคีบอาหารเข้าปาก ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับหมูดิบที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอีได้

           โดยไวรัสตับอักเสบอีมีระยะฟักตัว 15-60 วัน การติดเชื้อในคนปกติมักไม่รุนแรง แต่หากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยกินยากดภูมิต้านทาน จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังตามมาได้

           
 การติดต่อและวิธีการป้องกัน



            การติดต่อ “เชื้อไวรัสตับอักเสบ อี” นอกจากจะรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้ว น้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส การสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ และการถ่ายเลือดกับผู้ที่มีเชื้อก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งการป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบอีนั้นไม่ยาก โดยสามารถทำได้ ดังนี้



            - หลีกเลี่ยงการใช้ตะเกียบที่คีบหมูสดมาคีบอาหารเข้าปาก



            - ดูแลสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด



            - รักษาร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ



            - รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเรียบร้อยแล้ว



            - หมั่นล้างมือก่อนหยิบอาหารเข้าปาก

            ดังนั้น ใครที่ชื่นชอบการกินหมูกระทะ รวมทั้งอาหารปิ้งย่างที่ต้องใช้ตะเกียบสัมผัสกับเนื้อสัตว์ดิบๆ ควรระมัดระวังให้มาก แต่ทางที่ดีควรใช้ตะเกียบกลางที่คีบเฉพาะเนื้อสัตว์ดิบลงเตา หรือภาชนะอื่นๆ อย่าง ช้อน ส้อม ทัพพี ฯลฯ เพื่อสุขอนามัยที่ดี ไม่เจ็บไม่ป่วยใดๆ

           



 



ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย





 

X