จากวัดที่ต้องปิดเพราะพบผู้ติดเชื้อ สู่มาตรการเข้มงวด รองรับคนแก้ชง @วัดเล่งเน่ยยี่2

09 กุมภาพันธ์ 2564, 18:19น.


     "ปีที่แล้วเราให้กรอกข้อมูลลงทะเบียนก่อนเข้าวัด ปรากฏว่า มาด้วยกัน 3-4 คน ก็กรอกกันคนเดียว ยืดหยุ่นอำนวยความสะดวกให้คนที่อยากมาทำบุญ สุดท้ายพอมีผู้ติดเชื้อเมื่อปลายเดือนธ.ค.63 ตามใครแทบไม่ได้ มา 100 คน ตามได้ 3 คน มีทั้งชื่อเล่น เบอร์ปลอม มั่วไปหมด ขณะที่วัดต้องปิดยาวกว่า 1 เดือน" คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่วัด ณ จุดคัดกรอง 




     ตามที่ จังหวัดนนทบุรี ประกาศคำสั่งปิดวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 จนล่าสุดกลับมาเปิดได้ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา แอดมีโอกาสได้เข้าไปทำบุญและพบว่า ทางวัดมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นมากๆ เรียกได้ว่า สามารถใช้เป็นต้นแบบให้หลายๆวัดได้เลยทีเดียว มีอะไรบ้างลองมาดูกัน




     ตั้งจุดคัดกรอง เข้า-ออก ด้านเดียว : โดยธรรมชาติของวัด ย่อมไม่ใช่สถานที่ปิดตาย จึงไม่แปลกที่การออกแบบวัดจะสามารถเข้าออกได้หลายจุด แต่ในช่วงของการควบคุมโรค การกำหนดจุดเข้าออกที่จำกัด ย่อมสะดวกต่อการคัดกรอง และการควบคุมจำนวน ซึ่งที่วัดนี้ตั้งจุดคัดกรองด้านลานจอดรถ แถมมีเจ้าหน้าที่อาสายืนดูแลเข้มงวด




     บังคับโหลดแอป "หมอชนะ" : ตรงนี้ถือเป็นหัวใจเลยครับ แทบไม่มีที่ไหนกล้าบังคับเช่นนี้ ก่อนเดินเข้าไปจะมีเจ้าหน้าที่ประกาศถามผ่านไมโครโฟน ว่ามีแอปหมอชนะหรือยัง แถมไม่ใช่แค่ถามลอยๆนะครับ ขอดูทุกคนที่จะเดินผ่านเข้าไปเลย




     อำนวยความสะดวก : มีคนแนะนำการโหลด การลงทะเบียน จัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ชัดเจน ใครไม่มีเน็ตไม่ต้องห่วง เพราะมี FREE WIFI ไว้บริการอีกด้วย ดังนั้นใครที่เพิ่งโหลดหมอชนะ ไม่ต้องเขิน มีเพื่อนอีกเยอะ ยืนเซลฟี่ลงทะเบียนตรงนั้นกันเพียบ




     ลงทะเบียนแทนกันไม่ได้ : แอดยืนสำรวจบริเวณจุดคัดกรองอยู่นาน มีหลายคนที่บอกเจ้าหน้าที่ว่า"มาด้วยกัน" แต่ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ตรงนี้เลยว่า มีความอดทนและใช้คำพูดนอบน้อมขอความร่วมมือให้โหลดแอปหมอชนะทุกคน ซึ่งก็เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองทั้งนั้น แถมมีประโยคที่แอดฟังแล้วคล้อยตามคือ หากลงทะเบียนแทนกัน แล้วบังเอิญมีคนรับเชื้อไปจากที่นี่ไม่ลงทะเบียน คนนั้นเอาเชื้อไปแพร่ต่อได้โดยไม่รู้ที่มาที่ไปได้อีก ดังนั้นอาจจะยกเว้นให้ได้ก็เพียงแต่เด็กเล็กๆ ที่ยังต้องอุ้มไม่สามารถไปไหนมาไหนเองเท่านั้น




     สำหรับคนไม่มีสมาร์ทโฟน : หากคุณไม่สามารถโหลดแอปหมอชนะได้จริงๆ ด้านในจะมีเอกสารให้กรอกอย่างละเอียด ทั้งชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งต้องกรอกตามความเป็นจริง มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแล เรียกได้ว่าการกรอกข้อมูลตรงนี้ ต้องลงรายละเอียดมากกว่าโหลดแอปหมอชนะเยอะ




     วัดอุณหภูมิ ฆ่าเชื้อโรค : ใช้เวลาด้านนอกอยู่นานพอสมควร เมื่อแสดง QR Code สีเขียวๆในแอปหมอชนะให้เจ้าหน้าที่ดูแล้ว ให้คุณเดินผ่านเครื่องพ่นละอองฆ่าเชื้อโรคทั่วตัว แล้วไปแบบมือหน้าเซ็นเซอร์รอเจลแอลกอฮอล์ล้างมือหยดลงมา ซึ่งจุดนี้จะมีการวัดอุณหภูมิโดยอัตโนมัติไปในตัว สะดวกเข้าไปอีก




     นำถุงใส่รองเท้าเข้าไปด้วย : เจ้าหน้าที่จะให้คุณหยิบถุงใส่รองเท้าถือติดตัวไป เพื่อตอนเดินเข้าภายในวิหารทุกคนต้องถอดรองเท้า เป็นทางเลือกให้ว่าจะถอดรองเท้าด้านนอกเดินเข้าไปตัวเปล่า หรือเอารองเท้าราคาแพงของคุณใส่ถุงถือติดตัวไปด้วย อีกนัยนึงคือการลดความแออัดบริเวณจุดถอดรองเท้านั่นเอง




     จัดการระเบียบ เว้นระยะห่าง : บริเวณจุดติดต่อต่างๆ จะจัดให้มีการเว้นระยะห่าง ติดสติ๊กเกอร์จุดยืนที่พื้นระยะ 1-2 เมตร กั้นช่องทางเดินให้เป็นระเบียบ และแบ่งทิศทางการเดินลดความแออัดเมื่อต้องเดินสวนกัน




     มีช่องกั้นบริเวณจุดกรอกข้อมูล : เชื่อว่าหลายคนมาวัดนี้ก็เพื่อทำบุญแก้ปีชง ซึ่งจะต้องมีการกรอกชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ลงในใบฝากบุญ ซึ่งทางวัดจัดพื้นที่ให้มีการนั่งกรอกโดยมีแผ่นพลาสติกกั้นอย่างดี และมีปากกาให้บริการเพียงพอ ไม่ต้องเดินให้วุ่นเหมือนหลายที่ทั่วไป




     มีจุดเจลแอลกอฮอล์ให้กดล้างมือเป็นระยะ : โดยเฉพาะจุดที่ต้องมีการสัมผัสร่วมกัน เช่น กล่องหยิบธูป จานเทียน ฯลฯ แนะกดล้างมือกันทั้งก่อนและหลังทุกครั้งจะดีมาก




     ใส่หน้ากากป้องกันกันทุกคน : เท่าที่แอดเห็น เจ้าหน้าที่วัดทุกจุดไม่ว่าจะเป็น จุดคัดกรอง คนทำความสะอาด คนกวาดสวน และผู้ดูแลอื่นๆ ตังค์ใส่หน้ากากอนามัยกัน 100% อีกทั้งยังคอยเตือนให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วย




     เรียกได้ว่ามาตรการที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันควบคุมโรคโควิด-19 ถือเป็น New Normal ของวัดเลยก็ว่าได้ ทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งกับพระสงฆ์ บุคลากรของวัด โรงเรียน และประชาชนผู้มาทำบุญทุกคน ใครจะเดินทางไปแก้ชงก็อย่าลืมให้ความร่วมมือกับทางวัดด้วย ทั้งหมดก็เพื่อตัวคุณเอง


     สุดท้ายนี้ เชื่อว่าบางคนอาจสงสัยอยู่ว่าทำไมถึงต้องเป็นแอป"หมอชนะ" ทำไมไม่ใช้"ไทยชนะ" เหมือนอย่างที่อื่นๆ ซึ่งจริงๆแล้วแอดก็เห็นมี QR Code ของไทยชนะให้เช็คอินอยู่เหมือนกัน แต่ถูกนำไปวางไว้หลบมุมป้องกันการสับสน จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า ทางจังหวัดอยากให้เน้นไปที่การบังคับให้โหลดแอปหมอชนะมากกว่า เพราะสามารถติดตามได้ในระดับบุคคล ใครเดินผ่านใคร ใครมีเชื้อ ใครรับเชื้อ แอปจะทำงานให้เอง และสามารถติดตามได้ในที่สุด


DJ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์ : บรรณาธิการข่าวออนไลน์
X