โรคตื่นตระหนก “ใจสั่น - หัวใจเต้นเร็ว – คลื่นไส้ – เจ็บหน้าอก” เกิดขึ้นฉับพลัน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ

17 มีนาคม 2564, 15:36น.


            “โรคตื่นตระหนก” หรือ Panic Disorder จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล แม้ว่าในประเทศไทยจะพบจำนวนผู้ป่วยและระดับความรุนแรงของโรคนี้ไม่มากนัก แต่โรคนี้นับเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ทว่าโรคตื่นตระหนกมีอาการ สาเหตุ และมีวิธีรักษาอย่างไร ด้วยความห่วงใยจาก อ.นพ.สรวิศ วัยนิพิฐพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะเป็นผู้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับโรคที่ว่านี้ สร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง ช่วยให้เข้ารับการรักษาอาการได้ทันท่วงที

            อาการของโรคตื่นตระหนกที่ควรสังเกต


            สำหรับอาการโรคตื่นตระหนก ได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ เหงื่อออก ตัวสั่น หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งยังรู้สึกกังวลว่าจะมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอีกและส่งผลต่อการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่คิดว่าจะทำให้อาการของโรคนี้เกิดขึ้นอีก

           แล้วโรคตื่นตระหนกมีสาเหตุมาจากอะไร?

ในส่วนของสาเหตุของโรคตื่นตระหนกนั้นมีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่

1. พันธุกรรม เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้น

2. สภาพแวดล้อม ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดและเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต

3. พฤติกรรม อย่าง การสูบบุหรี่ และการกินอาหาร/เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

            การรักษาโรคตื่นตระหนกนี้นั้นจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาร่วมกับการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยคนนั้นๆ กรณีที่ผู้ป่วยตรวจพบโรคตื่นตระหนกนี้แล้วควรคัดกรองโรคร่วมอื่นๆ ที่อาจพบได้ด้วย เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น และแม้ว่าอาการของผู้ป่วยจะหายเป็นปกติแล้ว แพทย์ก็ยังคงต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและผลกระทบที่เกิดจากการหยุดยา



 





ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย





 



 

X